5578 จำนวนผู้เข้าชม |
พฤติกรรมฆ่าตัวตายในวัยรุ่น ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น
ดร. มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.) นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
พฤติกรรมฆ่าตัวตายในวัยรุ่นมีความซับซ้อน เมื่อเด็กเริ่มโตเข้าสู่ช่วงอายุประมาณ 15-24 ปี มีสถิติพบว่าการฆ่าตัวตายพุ่งสูงขึ้นและปมส่วนใหญ่มักเกิดจาก ความสับสนระหว่างการก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เจอความกดดันเรื่องการเรียน การเข้าสังคม การแสดงบ่งบอกตัวตนจากเพศที่ตนเลือก หรือความเป็นตัวเอง ปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว รู้สึกว่าอยากมีอิสระภาพ แต่ยังต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบ หรือการถูกคาดหวังจากพ่อ-แม่
อย่างไรก็ตามหากเด็กเคยมีปัญหาด้านสุขภาพจิตมาก่อน เช่น วิตกจริต ซึมเศร้า ไบโพล่า โรคนอนไม่หลับเหล่านี้อาจเสี่ยงต่อพฤติกรรมฆ่าตัวตายในวัยรุ่น
หากมีอาวุธ หรืออุปกรณ์ที่เป็นอันตรายใกล้ตัวก็จะเป็นปัจจัยเอื้อต่อการฆ่าตัวตายได้สำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้นเด็กที่เคยเจอมรสุมในชีวิต ไม่ว่าจะด้วยปัญหา พ่อ-แม่หย่าร้าง หรือแยกทางกัน ปัญหาด้านการเงิน หรือเคยตกเป็นเหยื่อการกระทำรุนแรง สาเหตุเหล่านี้ล้วนเป็นอิทธิพลสำคัญที่ส่งผลต่อความคิดอยากฆ่าตัวตายในวัยรุ่นได้ทั้งนั้น
ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความคิดฆ่าตัวตายอาจมีได้ด้งนี้
• ปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ไบโพล่า การใช้สารเสพติด หรือติดสุรา ส่งผลให้มีแนวโน้มอยากฆ่าตัวตาย จากสถิติพบว่า กว่า 95% ของวัยรุ่นที่พยายามฆ่าตัวตายล้วนกำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้ เช่น
• ความรู้สึกอ่อนไหวง่ายด้านอารมณ์ โศกเศร้าเสียใจ เจ็บปวดรวดร้าวรุนแรง ฉุนเฉียวง่าย ตื่นตระหนก หวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา
• รู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ และรู้สึกไร้ค่า ส่วนใหญ่มักจะมีภาวะซึมเศร้าร่วมอยู่ก่อนแล้ว
• มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคซึมเศร้า หรือ มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย
• เคยถูกทำร้ายด้านร่างกาย และจิตใจ หรือ โดนล่วงละเมิดทางเพศ
• ขาดที่พึ่งทางใจจากคนรอบข้าง มีปัญหาด้านสัมพันธภาพกับ พ่อ-แม่ เพื่อน และคนรอบข้าง แยกตัวออกจากสังคม
• โดนกดดันจากการเบี่ยงเบนทางเพศ ไม่ได้รับการยอมรับ หรือ การสนับสนุนจากครอบครัว จากสังคมที่อยู่ หรือจากโรงเรียน
สัญญาณเตือน
พฤติกรรมการฆ่าตัวตายอาจเกิดขึ้นได้ หากเผชิญเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้ เช่น ปัญหาที่โรงเรียน ทะเลาะกับเพื่อน เลิกกับแฟน ซึ่งอาจเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของวัยรุ่น แต่อาจเป็นปัญหาที่พ่อ-แม่ ผู้ปกครองมองเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย และละเลยที่จะให้ความสำคัญทำให้เด็กรู้สึกขาดคนเข้าใจ และไม่สามารถที่จะปรับทุกข์หรือระบายให้ใครฟังได้ นอกจากนี้การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือ ปัญหาหย่าร้างของพ่อ-แม่ก็เป็นต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลทางลบต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามให้สังเกตอาการเหล่านี้
สัญญาอันตรายก่อนการฆ่าตัวตาย
• พูดเกริ่นเรื่องความตาย หรือ การฆ่าตัวตาย
• พูดเป็นนัยว่าอาจจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว
• พูดในเรื่องท้อแท้ สิ้นหวัง หรือรู้สึกสำนึกผิด
• แยกตัวออกห่างเพื่อนและครอบครัว
• เขียนจม. เขียนเพลง หรือกลอนเกี่ยวกับความตาย การพลัดพราก หรือความสูญเสีย
• เริ่มแจกแจงสมบัติส่วนตัว ให้พี่ น้อง และเพื่อน
• ไม่สนใจอยากทำกิจกรรมที่เคยชอบ
• ขาดการโฟกัส ไม่มีสมาธิ และมีความคิดสับสนจนสื่อออกมาไม่ชัดเจน
• พฤติกรรมการกินการนอนเปลี่ยนไปอย่างผิดปกติ
• เริ่มทำพฤติกรรมเสี่ยง และเป็นภัยกับตนเอง
• ไม่อยากไปโรงเรียนหรือไม่อยากไปเล่นกีฬาที่เคยโปรดปราน
คนรอบข้างจะช่วยได้อย่างไร
หลายครั้งคนรอบข้างมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายว่า ที่เด็กพูดว่าจะฆ่าตัวหรือจะทำร้ายตัวเองนั้นเป็นการพูดเพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นั่นเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
กว่า75% ของคนที่เคยพูดเรื่องถึงการฆ่าตัวตายหรือการจบชีวิต มักจะลงมือทำจริง ดังนั้น หากสังเกตเห็นพฤติกรรมดังกล่าวควรเปิดใจรับฟัง และพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือเขา เพราะนั้นเท่ากับว่าเรากำลังช่วยป้องกันโศรกนาฎกรรม หรือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานของเราได้ และควรปฎิบัติดังนี้
• ให้สังเกตพฤติกรรม
คอยดูว่าลูกแยกตัวจากสังคมหรือไม่ มีภาวะผิดปกติเข้าข่ายซึมเศร้าหรือเปล่า ต้องพูดคุยกับเขา ให้ความรักและใส่ใจ หากลูกไม่รู้สึกอยากพูดคุยกับพ่อ-แม่ หรือคนในครอบครัวถึงปัญหาที่มี อาจต้องว่ายวานคนกลาง ซึ่งอาจเป็นญาติที่สนิท คุณครู หรือ นักจิตวิทยาให้ช่วยพูดคุยกับเขา
• บางครั้งจำเป็นต้องถามตรงๆ
หากลูกพูดถึงแต่ความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตัวเองบ่อยครั้ง นั้นอาจเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ ถามเขาว่าคิดที่จะทำแบบนั้นอยู่หรือเปล่า และถ้าคำตอบคือใช่ ให้รับฟังโดยไม่ต้องตัดสินใดๆ ให้กำลังใจ ให้เขารู้ว่ายังมีคนที่อยู่ข้างๆเป็นกำลังใจให้เขา และต้องเข้าใจถึงความรู้สึกเจ็บปวดที่เขาเผชิญอยู่ ถามถึงสาเหตุที่อยากฆ่าตัวตาย เพื่อเก็บข้อมูลให้มากที่สุด และควรซ่อนของมีคม อาวุธ ยาหรือสารเคมีอันตราย ให้มิดชิด และยากต่อการเข้าถึง จากนั้นให้ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา
หากได้รับนัดหมายจากผู้เชี่ยวชาญแล้วควรไปตามนัดหมาย จนกว่าจะได้รับคำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญว่าอาการดีขึ้นแล้ว เพราะความคิดและพฤติกรรมฆ่าตัวตาย อาจมีอาการแย่และต่อมาหมือนจะดีขึ้นในช่วงแรก แต่อาจกลับมาถึงขั้นวิกฤติจนกระทั่งทำให้ฆ่าตัวตายในเวลาต่อมาได้ หากเราละเลย หรือ ชะล่าใจ
ดังนั้นถึงแม้ว่าจะลูกอ้างเหตุผลว่ารู้สึกดีขึ้นแล้วและไม่อยากไปตามนัดก็ตาม ต้องให้กำลังใจในการไปพบผู้เชี่ยวชาญ และต้องจำไว้เสมอว่าสัมพันธ์ภาพที่ดีจากคนในครอบครัวจะช่วยให้เขาผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้
• สามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หากรู้สึกว่าลูกวัยรุ่นคิดจะจบชีวิตให้ได้ในเร็ววัน นั้นถือว่าเป็นสัญญาณเตือนในขั้นวิกฤติ ไม่ควรปล่อยให้เขาอยู่ลำพัง และ ให้รีบขอความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยไม่รอช้า
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีพยายามความคิดฆ่าตัวตาย คนใกล้ชิดควรให้ความช่วยเหลือด้วยการเปิดใจรับฟังปัญหา และไม่ควรวิพากวิจารณ์ หรือวิเคราะห์ปัญหาอารมณ์ของบุคคลนั้นบนพื้นฐานของคนอื่น และไม่ควรชี้แนะหรือตัดสินแทนว่าเขาควรทำอะไรเพื่อเป็นการจัดการกับปัญหา แต่เน้นการอยู่เป็นเพื่อนกับบุคคลผู้นั้น และ ไม่ต้องพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของบุคคลนั้น แต่ควรดูแลเรื่องอื่นๆแทน เช่น การรับประทานอาหาร การพักผ่อนนอนหลับ การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหรือจากนักจิตวิทยา ไต่ถามถึงความคิดต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย พยายามให้บุคคลนั้นพูดระบายออกมาว่าเค้ามีความอึดอัดใจในเรื่องอะไร ด้วยคำพูดที่สงบและให้กำลังใจ
พูดคุยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากเขาคิดสั้นจะกระทำการฆ่าตัวตายว่าจะส่งต่อคนที่รักเขาอย่างไร เพื่อช่วยให้เขาได้คิดว่าถ้าเขาจากไปจะมีผลกระทบอย่างไร กับใครบ้าง
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับจิตใจที่สิ้นหวังและความอ่อนแอของผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่คือ กำลังใจ หากมีญาติหรือคนใกล้ตัวคิดฆ่าตัวตายหรือกำลังพยายามจะฆ่าตัวตาย และอยู่ในสภาวะที่ไม่มีความหวัง ท้อแท้ สิ่งที่เราทำให้เขาได้คือ การให้เขาได้รับรู้ และเห็นคุณค่าของตนเอง
การมีคนคอยใส่ใจดูแลจะเป็นยาที่ดีที่สุดสำหรับคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถนัดหมายนักจิตวิทยาเพื่อช่วยดูแลด้านจิตใจให้กลับมาดีและมีวิธีแก้ไขได้อย่างถูกแนวทาง
อ้างอิง:
1. www.Kidshealth.com
2. https://www.bettermindthailand.com/
3. https://www.facebook.com/BettermindThailand