Psychotherapy กับ Counseling psychology แตกต่างกันอย่างไร?

1130 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Psychotherapy กับ Counseling psychology แตกต่างกันอย่างไร?

การทำจิตบำบัด (Psychotherapy)
กับ
การปรึกษาเชิงจิตวิทยา (Counseling psychology)  
แตกต่างกันอย่างไร?
 
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา
Marid Kaewchinda (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
นักจิตบำบัด EMDR Psychotherapy/ Brainspotting Psychotherapy
 
 

การทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเหมือนกันหรือไม่ มาทำความเข้าใจศัพท์ทางจิตวิทยา

ทั้งการทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยา เป็นเครื่องมือสำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตใจ ผู้ที่มีปัญหาทางอารมณ์ สุขภาพจิต และบุคลิกภาพที่บกพร่องต่างๆ เป็นกระบวนที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจและอารมณ์ให้กลับมาสมดุล และอยู่ในสุขภาวะจิตที่ดี
ในหลายแนวคิดการทำงานในกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นการทำจิตบำบัดได้ขึ้นอยู่กับบริบทการใช้เครื่องมือเวลาปฏิบัติ
 


การปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นการบำบัดแบบไหน

การปรึกษาเชิงจิตวิทยาส่วนใหญ่เป็นการทำงานกับความคิด ผู้รับการปรึกษาจะได้ทบทวนตัวเอง ทำให้สมองส่วนคิดฟื้นตัวขึ้น เหมือนเป็นการบำบัดชั่วคราว
 
มีเป้าหมายร่วมกันของแนวคิดต่างๆ คือการช่วยเหลือผู้รับการปรึกษาที่กำลังทุกข์ใจให้เกิดสติ สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและอยู่กับปัจจุบันขณะมากขึ้น มุ่งเน้นการแก้ปัญหา หรือการสนับสนุนด้านจิตใจในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดผลด้านการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิบัติด้านการแสดงออกทางพฤติกรรม

การปรึกษาเชิงจิตวิทยานั้นเป็นบริการเพื่อช่วยเหลือดูแลจิตใจในระยะสั้น บางท่านเรียกการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นการบำบัดด้วยแบบ Talk therapy มุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาที่เผชิญอยู่ หรือเพื่อเรียนรู้เทคนิควิธีที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญไปพัฒนา ลงมือปฏิบัติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้สามารถจัดการกับชีวิต และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
 
 


การปรึกษาเชิงจิตวิทยานั้นมักจะเป็นการพูดคุยปรึกษาระหว่างผู้รับบริการกับผู้เชี่ยวชาญในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย และเป็นส่วนตัว  ผู้เชี่ยวชาญมีเป้าหมายในการให้การsupport ด้านจิตใจ มีแนวทาง มีการจัดการ มีวิธีการในการดึงพลังใจให้กลับมาเพื่อเผชิญกับปัญหาอุปสรรค ดึงสติให้อยู่กับโลกความเป็นจริง และเป็นแหล่งที่ช่วยให้ผู้มารับบริการเข้มแข็งและเติบโตทางความคิดและอารมณ์

ขณะที่การทำจิตบำบัดเป็นการช่วยรักษาอาการทางจิตใจแบบยั่งยืน มีวัตถุประสงค์ในการสร้างสมดุลทางจิตใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (State change) และเติบโต โดยมีการตกผลึกกับสิ่งที่เผชิญและเป็นปัญหาในชีวิตโดยได้รับการแก้ไขและสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับภาวะความวุ่นวายใจให้มีความสงบและเกิดการเติบโตจากตัวตนภายใน
 


การทำจิตบำบัดเป็นการช่วยเหลือแบบลงลึก ต้องให้เวลา และควรได้รับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง กระบวนการมุ่งเน้นไปที่ความรู้สึกที่บุคคลได้รับและเคยได้สัมผัสเมื่อในอดีต เพื่อให้เข้าถึงประสบการณ์นั้นจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ค่อยๆ นำไปสู่การคลี่คลายปมในใจ และส่งผลต่อการเติบโตทางจิตใจ และตัวตนภายในอย่างยั่งยืน

การทำจิตบำบัดนั้นจะเป็นวิธีการทำงานที่ลงลึกกว่า กระบวนการจะเป็นระยะยาวกว่า ในการเข้าถึงความรู้สึกด้านลึกในจิตใจและประสบการณ์ที่ได้ผ่านพบมาของผู้เข้าบำบัด เพื่อดึงจิตใจและประสบการณ์ต่างๆมาเป็นการนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองเพื่อเติบโต และก้าวไปข้างหน้า

การทำจิตบำบัดอาจใช้เวลาอาจเป็นปีหรือเป็นหลายปีขึ้นอยู่กับความพร้อมของสภาพจิตใจ และลักษณะความซับซ้อนของปัญหา เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการได้สามารถปรับสมดุลด้านจิตใจ เติบโตและกลับเข้าสู่ภาวะปกติและ ที่มีความสุขได้จากช้างใน และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นโดยรอบและ สามารถเข้าถึงความเข้าใจในประสบการณ์ที่ผ่านมาและอยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้โดยไม่มารบกวนจิตใจได้อีก 
 




การทำจิตบำบัดนั้นจะเน้นเรื่องการทำงานกับตัวเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นด้านจิตใจที่ทำให้เกิดอาการบกพร่องต่างๆ ดังนั้นการทำจิตบำบัดจึงต้องอาศัยการทำงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัดเพื่อให้เกิดการทำงานลงลึกกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถเติบโตออกมาจากสิ่งที่รบกวนจิตใจเหล่านั้นได้

การทำจิตบำบัดจะมุ่งเน้นความทรงจำ และตัวรบกวนที่เป็นปัญหาเรื้อรัง และเกิดขึ้นซ้ำๆ ยาวนาน โดยมีกระบวนการทางการรักษาที่ชัดเจน มีขึ้นตอนเพื่อช่วยเรื่องระบบ ความคิด พฤติกรรม โดยมามีการผสมผสานเทคนิคด้านจิตวิทยาในรูปแบบต่างๆเพื่อเข้ามาช่วยแก้ไขรูปแบบทางความคิดและพฤติกรรมของผู้เข้ารับบริการ
 
 
 

การทำจิตบำบัดสามารถช่วยเรื่องการควบคุมอารมณ์ที่ไม่ปกติ และความเจ็บป่วยด้านจิตใจ ทำให้สามารถจัดการกับภาวะที่เป็นปัญหามาอย่างยาวนาน และซับซ้อนได้
ปัญหาที่ผู้มารับบริการส่วนใหญ่ต้องการรักษามัก ได้แก่
  • โรควิตกกังวล (Anxiety disorders)
  • โรคซึมเศร้า (Depression)
  • ปัญหาการกินผิดปกติ (Eating disorders)
  • โรคอารมณ์ 2 ขั้ว (Bipolar disorder)
  • โรคจิตเภท (Schizophrenia)
  • บอร์เดอร์ไลน์ (Borderline personality disorder)
  • ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post-traumatic stress disorder, PTSD)
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder, OCD)


อีกมุมมองหนึ่งทั้งการทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสามารถเรียกได้ว่าเป็นวิธีการบำบัดช่วยเหลือทางจิตใจ แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของเป้าหมายการทำงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแนวคิดทฤษฎีที่ผู้ให้บริการได้รับการอบรมและฝึกฝนมา 

เราสามารถได้รับประโยชน์จากบริการทั้งสองรูปแบบ การทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสามารถช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ ให้กลับมามีพลัง และมีกำลังใจต่อสู้กับชีวิตได้อีก

 



ระหว่างการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) กับการปรึกษาเชิงจิตวิทยา (Counseling psychology) เราควรเลือกอันไหน

เมื่อทั้งสองเทคนิควิธีนี้สามารถช่วยปรับสมดุลย์และฟื้นฟูจิตใจให้กับผู้ที่มีปัญกาด้านจิตใจได้และเราควรจะเลือกแบบไหนดี ควรขึ้นอยูกับความต้องการและเหมาะกับเรา

หากเรามีภาวะซึมเศร้า และปัจจัยเสียงอื่นๆ เช่น PTSD ไบโพล่า รู้สึกเหนื่อยกับการใช้การปรึกษาเชิงจิตวิทยา หรือใช้มานานแล้วยังไม่ได้ผล มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง อารมณ์แปรปรวนเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ หรือมีภาวะด้านสุขภาพจิตที่ยากเกินการควบคุมจัดการ ทำให้การใช้ชีวิตเกิดความยากลำบาก มีความคิดด้านลบ ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง การทำจิตบำบัดอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการปรึกษาเชิงจิตวิทยา

อย่างไรก็ตาม การปรึกษาเชิงจิตวิทยาอาจเหมาะสมกับคนที่มีภาวะต่างๆ ดังนี้ เช่น กำลังประสบปัญหากับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และต้องการความช่วยเหลือสนับสนุนทางความคิดในประเด็นนั้น เพื่อสามารถรับมือแก้ปัญหากับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่อย่างมีทักษะวิธีการจัดการที่ถูกต้องโดยไม่ไปพึ่งวิธีการแบบผิดๆ เช่น การใช้สารเสพติด วิธีการแบบผิดๆ จะช่วยให้ลืมความทุกข์เพียงชั่วคราว




ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนมาพบผู้เชี่ยวชาญ

ทั้งการทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยานั้นควรผ่านการนัดหมายก่อน

และสิ่งสำคัญในการเตรียมพร้อมควรมีดังนี้

  • เตรียมคำถามที่ต้องการถามหรืออยากรู้สำหรับถามผู้เชี่ยวชาญ
  • ประเด็นปัญหาที่ต้องการจัดการ
  • เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
  • สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นอารมณ์และปัญหาอุปสรรคด้านจิตใจ
  • อาการหรือภาวะด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นหรือความเครียดกังวล
  • ประวัติการใช้ยาด้านจิตเวช

สรุปคือทั้งการทำจิตบำบัดและการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นรูปแบบในการช่วยเหลือทางจิตใจเพื่อให้เราฟื้นตัวกับมามีสุขภาวะจิตที่สมดุล
อย่างไรก็ตามหากพบปัญหาและอุปสรรคด้านภาวะทางจิตใจที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและสัมพันธภาพกับคนรอบข้าง ไม่ควรรอช้าและปล่อยทิ้งไว้แต่ควรรีบมาพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับการแก้ไขไปในทางที่ถูกต้อง

 
 

อ้างอิง
https://www.medicalnewstoday.com/articles/psychotherapy-vs-therapy#are-they-the-same

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้