26132 จำนวนผู้เข้าชม |
เหงาและโดดเดี่ยวในชีวิตคู่
อาจนำสู่โรคซึมเศร้า
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.)
Dr. Marid Kaewchinda
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
นักจิตบำบัด EMDR Psychotherapy/ Brainspotting Psychotherapy Practitioner
ความเหงาเกิดได้กับทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่มีคู่ หรือแต่งงานแล้ว การนอนบนเตียงเดียวกัน อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน เจอหน้ากันทุกวัน แต่กลับรู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวเกิดได้กับทุกคู่ นั่นเป็นเพราะว่าสาเหตุของความเหงาแท้จริงแล้ว เกิดจากสัมพันธภาพของคนที่เราใช้ชีวิตร่วมด้วย
ความเหงาและโดดเดี่ยว คือการที่เราและคู่ชีวิตของเราขาดการจูนเข้าหากัน แยกตัวออกห่างกัน ดังนั้นการที่เราอยู่ในที่เดียวกัน จึงไม่ได้การันตรีว่าเรามีการเชื่อมโยงเข้าหากัน หรือมีสัมพันธ์ภาพที่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้นการใช้เวลาร่วมกันหากไม่มีสัมพันธภาพที่ดีอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่าการอยู่คนเดียวหรือ ก่อนแต่งงานด้วยซ้ำ
หลายคู่หลังแต่งงานมักแยกมาสร้างชีวิตใหม่และต้องอยู่ไกลพ่อแม่พี่น้องของตัวเอง และหากชีวิตคู่เกิดปัญหาเรื่องความเข้าใจ หรือ สัมพันธภาพ ความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างจึงเกิดขึ้นได้ และ หากทิ้งไว้นานอาจบั้นทอนความสัมพันธภาพของชีวิตแต่งงานและอาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าได้
อะไรคือสาเหตุของความเหงาในชีวิตคู่
ก่อนที่เราจะแก้ไขความเหงาในชีวิตคู่ได้ เราควรเข้าใจ สาเหตุของปัญหาก่อนว่าเกิดจากอะไร
• ขาดความโรแมนติก เมื่อใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันไปนานๆ ปัญหาด้านคุณภาพของความสัมพันธ์ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ การไม่มีเวลาดูแลกันและกันเป็นเวลานานๆจนเกิดเป็นความเคยชิน งานยุ่ง ไม่บาลานซ์ชีวิตคู่กับการทำงาน ติดธุระที่ต้องทำร่วมกับผู้อื่นหรือคนนอกครอบครัวตลอดเวลา ความวุ่นวายกับการดูแลลูกๆ เลี้ยงดูลูกโดยไม่แบ่งเวลาสำหรับคู่ชีวิต หรือไม่ได้จัดสรรเวลาในเรื่องความโรแมติกให้กับคู่ของตน
หากเราลองย้อนนึกกลับไปถึงตอนที่เราเริ่มออกเดทหรือจีบกันใหม่ๆ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่มีการเชื่อมโยงที่ดี มีความรู้สึกโหยหาและอยากอยู่ใกล้กันตลอดเวลา แต่เมื่อเวลาผ่านไปความรู้สึกนี้ก็เริ่มจางลง ทำให้ทั้งคู่ขาดการเชื่อมโยงด้านความสัมพันธ์ ขาดความใกล้ชิดสนิทสนม การอยู่ไกลกันนานๆ ขาดกิจกรรมที่ใช้เวลาทำร่วมกัน แบ่งปันการแชร์ทุกข์สุขที่ได้พบเจอในแต่ละวัน รวมทั้งการขาดกิจกรรมบนเตียงหรือไม่มีเซ็กส์กันเลยเป็นเวลานานๆ ก็ส่งผลด้านลบต่อความสัมพันธ์ในการใช้ชีวิตคู่ด้วยเช่นกัน และสิ่งเหล่านั้นนานวันก็ทำให้การใช้ชีวิตคู่ค่อยๆถูกแยกห่างจากกัน
• ความไม่ลงรอยกัน พูดกันไม่รู้เรื่อง และ ใช่แต่อารมณ์ การสื่อสารในชีวิตคู่เป็นสิ่งที่สำคัญมากและไม่ควรมองข้าม การพูดเสียดสี ทำให้อีกฝ่ายน้อยเนื้อต่ำใจ หรือการพูดที่ใช้แต่อารมณ์ มีอคติ พูดแต่ไนแง่ลบ ไม่ให้เกียรติกันและกัน ย่อมบั่นทอนความสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ และทำให้อีกฝ่ายเริ่มรู้สึกว่าคู่ของเรานั้นไปด้วยกันไม่ได้ในหลายๆเรื่องเพราะขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา
การสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัน เป็นสาเหตุที่ทำลายชีวิตคู่ และส่งผลให้ทั้งคู่ไม่อยากเล่าปัญหา หรือไม่อยากแชร์เรื่องราวทุกข์สุขให้กันฟัง เพราะคิดว่าอีกฝ่ายก็คงไม่สนใจอยากรู้ หรือจะถูกมองไม่ดี หากเคยโดนตำหนิ ติเตียนในเรื่องเล็กๆน้อยๆอยู่บ่อยๆก็ส่งผลให้การพูดคุยสื่อสารมีปัญหามากขึ้น และระแวงว่า จะโดนอีกฝ่ายคอยจับผิด ส่งผลให้สื่อสารพูดคุยกันน้อยลง หรือเก็บไว้คนเดียว
• รู้สึกตัวเองด้อยค่า การไม่ได้รับความสนใจจากอีกฝ่ายทำให้เกิดความรู้สึกอ้างว้างและอาจทำให้คิดว่า อีกฝ่ายไม่เห็นคุณค่าหรือความสำคัญของตน อาจนำไปสู่การหลีกเลี่ยงที่จะเข้าหา และนั่นยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ห่างไกลกันมากขึ้นจนเกิดเป็นการนอกใจเพียงเพราะต้องการใครซักคนที่มองเห็นคุณค่า
• การถูกทำร้ายด้านร่างกายและจิตใจ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความอ้างว้างโดดเดี่ยวในชีวิตคู่ การทะเลาะตบตี ใช้กำลังทำร้ายร่างกายเป็นการทำลายความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่คนที่เคยมีประสบการณ์ หรือเคยตกเป็นเหยื่อในความรุนแรงหลังแต่งงานมักเกิดบาดแผลในใจที่ฝังลึก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาเยียวยาด้านจิตใจ อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้
ดังนั้นหากมีประสบการณ์การโดนทำร้าย ไม่ว่าจะทางด้านร่างกาย หรือ ทางด้านจิตใจ ควรรีบไปปรึกษาผู้เชียวชาญเพื่อรับคำแนะในการดูแลรักษาบาดแผลทางใจที่ถูกต้องและเหมาะสม
เราควรจัดการกับปัญหาความเหงาในชีวิตคู่อย่างไร?
สาเหตุของความเหงาในชีวิตคู่ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ไม่ได้พูดถึงอีกมากมาย แต่ละคู่ก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาในแต่คู่ย่อมไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามสามารถนำแนวทางเบื้องต้นนี้ไปปรับใช้เพื่อช่วยลดปัญหาความเหงาในขีวิตคู่และสร้างสัมพันธภาพของการอยู่ร่วมกันให้ดีขึ้นได้
• เปิดใจ และรับฟังอีกฝ่ายด้วยความเข้าใจ
พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาในสิ่งที่เราทั้งคู่มีความไม่เข้าใจในเรื่องที่ยังค้างคา อะไรที่ไม่ชอบให้อีกฝ่ายทำ เรื่องที่เป็นปัญหา และความกังวลใจทีเกิดขึ้นระหว่างกันควรพูดคุยกันตรงๆ เพราะบางครั้งความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวที่เกิดกับเรา คู่ของเราอาจมีความรู้สึกแบบนี้เช่นเดียวกัน เราจึงควรหาโอกาสในการประสานความสัมพันธ์ของทั้งคู่ให้กลับมาดีอย่างเดิมและควรเปิดใจรับฟังอีกฝ่ายด้วยความเข้าใจ รวมทั้งแสดงความห่วงใยกัน และ พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นแต่ต้องเข้าใจว่ามันอาจต้องใช้เวลา
• หาทำกิจกรรมที่ทำร่วมกันบ่อยขึ้น
หากิจกรรมที่ตอบโจทย์ หรือชอบทำด้วยกัน บางครั้งเรามีความชอบที่แตกต่างกันแต่ก็ลองเปิดใจเข้าไปร่วมกิจกรรมที่อีกฝ่ายชอบ หากมันไม่เวิรค์สำหรับเราจริงๆ ก็ลองปรับหากิจกรรมตรงกลางที่สามารถไปด้วยกันได้ แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งที่คู่ของเราสนใจและพยายามเรียนรู้แล้ว
• เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
บางครั้งการอยู่ด้วยกันนานๆเราอาจคิดว่าเรารู้จักนิสัยและความคิดของคู่ชีวิตของเราดีพอ แต่อย่าลืมว่ามันไม่ใช่ทุกเรื่องทีการรับรู้ของเราจะถูกต้องเสมอไป ดังนั้นเราต้องทำความเข้าใจอีกฝ่ายโดย ให้โอกาสเขาได้แสดงความคิดเห็น และรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจกัน เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีให้ยืนยาว
แต่หากรู้สึกว่าความสัมพันธ์ของคู่ชีวิตเรามีปัญหาในการแก้ไขได้เอง หรืออาจมีความซับซ้อนจนเกินเลยไปถึงขั้นที่ต้องมีคนกลางมาช่วยในการเชื่อมความสัมพันธ์อยู่บ่อยครั้งอาจตลองไปพบนักจิตวิทยา เพื่อได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ครอบครัวเพให้ชีวิตคู่สามารถพัฒนาต่อไปได้
หลายคนอาจมองว่า การไปปรึกษานักจิตวิทยานั้นควรเป็นตัวเลือกสุดท้าย แต่ในความเป็นจริงแล้วการเรียนรู้ทักษะ วิธีแนวทางที่จะสร้างชีวิตคู่ให้มีคุณภาพและยั่งยืนได้นั้น ควรได้รับคำแนะนำดีๆจากผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เนิ่นๆก่อนปัญหาบานปลาย และควรได้รับคำแนะนำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ เพราะชีวิตคู่ต้องมีการปรับจูนหากมีปัญหา ต้องได้รับคำชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง
ที่สำคัญไปกว่าคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญคือควรต้องคอยหมั่นเติมความรัก และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กันในทุกๆวัน หากไม่มั่นใจในการแก้ไขปัญหาชีวิตคู่ด้วยตัวเองควรมาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญไม่ควรปล่อยปัญหาทิ้งไว้จนสายเกินแก้ไข
อ้างอิง:
psychologytoday