ความคิดลบทำให้สมองเสื่อมได้อย่างไร?

3451 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความคิดลบทำให้สมองเสื่อมได้อย่างไร?

 ความคิดลบทำให้สมองเสื่อมได้อย่างไร?

 

   

ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D)

นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และนักจิตบำบัด

Certified EMDR and Brainspotting Therapy

 

การฝึกลับสมองให้เฉียบคมอยู่เสมอสามารถเพิ่มขีดความสามารถให้ความก้าวหน้าในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมส์ฝึกสมอง จ้างเทรนเนอร์ด้านสมองมาเป็นที่ปรึกษา

ต่อจิ๊กซอว์ ล้วนเกี่ยวข้องกับพัฒนา cognitive skills ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานในด้านการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั้งความจำ การมีเหตุผล การเข้าใจลึกซึ้งในรายละเอียด สิ่งเหล่านี้สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้

จากการศึกษาด้านสมองของนักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าการพัฒนาสมองสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตามหากเราละเลยหรือปล่อยให้การพัฒนาสมองอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์อาจเกิดปัญหาด้านต่างๆตามมาได้ เช่น การอ่านออกเสียง สมาธิ ความจำ หรือส่งผลเสียต่อการรับรู้เรื่องใหม่ๆ ข้อมูลข่าวสารและอาจมีผลต่อความคิดเชิงสร้างสรรค์ในเวลาต่อมา

ลองดูภาพข้างล่างนี้และฝึกสมองด้วยการวาดภาพนี้ลงในกระดาษเปล่าโดยไม่ยกดินสอขึ้นเลย ว่าเราจะสามารถทำได้อย่างไร?

การกระตุ้นเซลล์ประสาทและการรับรู้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ให้กับสมอง เป็นการพัฒนา cognitive skills ซึ่งเราควรต้องพัฒนาและกระตุ้นสมองด้านนี้อยู่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามถ้าเราไม่พัฒนาหรือเติมความรู้ใหม่ๆหรือ ท้าทายสมองก็อาจเป็นผลเสียเช่นกัน

จะเกิดอะไรขึ้นหากการทำงานของสมอง ด้าน cognitive skills ไม่มีประสิทธิภาพ

ซึ่งเรารู้ว่าการเรียนรู้หลายอย่างต้องอาศัยประสิทธิภาพของสมองในการเรียนรู้ แต่หากการทำงานของสมองด้อยประสิทธิภาพอาจเกิดปัญหาดังต่อไปนี้

  • ปัญหาด้านสมาธิ – ความสามารถในการจดจ่ออยู่กับการทำงานให้สำเร็จจะเป็นไปได้ยาก เพราะสมาธิถูกรบกวนได้ง่าย
  • ประสิทธิภาพในการแยกแยะ หรือ การจดจำข้อมูลรายละเอียดในงานแต่ละอย่างที่ทำในเวลาเดียวกันทำได้ยาก ทำให้เกิดความผิดพลาดบ่อยครั้ง
  • ความจำในระยะยาว ความสามารถในการเรียกคืนความทรงจำที่ผ่านไปแล้วกลับมาอาจทำได้ยาก พบบ่อยในเรื่องทำข้อสอบ หลงลืมในสิ่งที่เรียนไปแล้ว
  • ความจำระยะสั้น เช่นการทำงานที่มีหลายๆขั้นตอนอาจมีปัญหาในเรื่องวิธีการ ต้องอ่านวิธีทำซ้ำๆ กลับไปกลับมาบ่อยๆ
  • ตรรกะด้านความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล การแก้ปัญหา อาจทำได้ยากลำบาก ต้องคอยมีคนบอกตลอดเวลาว่าต่อไปต้องทำอะไร อาจมีปัญหาด้านคิดคำนวนร่วมด้วย หากเกิดปัญหาบ่อยๆอาจส่งผลเสียต่ออารมณ์ทำให้หงุดหงิด
  • การประมวลผลจากการฟัง ประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ รวบรวม และแยกแยะเสียงต่างๆ อาจสังเกตุได้จาก การตีความหรือ การได้ยิน เนื่องจากการทำงานสมองไม่ประสานกันทำให้การตีความในเรื่องที่ได้ยินผิดแปลกจากที่คนส่วนใหญ่รับรู้
  • การมองเห็น หากมีปัญหาเรื่องการมองภาพ การโฟกัสด้านการมองเห็น ความเข้าใจก็จะแตกต่างจากความเป็นจริงได้
  • ความคิดว่องไว หรือระยะเวลาที่ใช้ในการทำภาระกิจจนสำเร็จและถูกต้อง



 

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าหากต้องการลับสมองให้ฉลาดหลักแหลม และ มีประสิทธิภาพเราควรต้องดูแลใส่ใจสุขภาพร่างกาย จิตใจ และควรหมั่นเติมอาหารสมองอยู่เสมอ ด้วยการเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ทำตัวให้กระฉับกระเฉงกระปรี้กระเปร่า ขยับร่างการเพื่อช่วยให้ระบบโลหิตไหลเวียนทำให้สมองได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ควรฝึกสมองให้แอคทีพอยู่เสมอทำได้ด้วยการทำงาน การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ รูป กลิ่น รส การมอง การรับรู้ การได้ยินควรหมั่นฝึกการใช้ประสาทสัมผัสบ่อยๆ 



 

ดังนั้นการที่เราจะมีcognitive skill ที่ดีได้นั้นต้องมีความพร้อมในการเตรียมสมองให้ดีด้วยลองนำเทคนิคที่ช่วยการพัฒนาสมองไปใช้ในการช่วยเพิ่มทักษะด้าน cognitive skills เพื่อช่วยประสิทธิภาพของสมองให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น

10 เทคนิคในการทำให้สมองดี

ฝึกขยับกล้ามเนื้อที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ช่วยเรื่องประสาทการรับรู้และความทรงจำทำได้ดังนี้

  1. เดินเล่น โยคะ ไทเก็ก เล่นเทนนิส หรือ เก็บลูกบอล
  2. อ่านหนังสือที่พัฒนาสมองเป็นประจำ
  3. กินอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง เช่น ปลา ถั่ว ไวน์แดง ชาเขียว ไข่ บลูเบอรี่
  4. ฝึกร่างกายให้รับความกดดันที่ถูกวิธีจะช่วยเลือดไหลเวียนไปที่สมองได้ดี เช่น การนอนหงาย หรือนอนตะแครง คางกับศีรษะตรง หรือฝึกบาลานซ์ตัวด้วยโยคะและควรรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่
  5. นอนให้เพียงพอ ช่วยเรื่องความจำดีในระยะยาว
  6. เล่นเกมส์ฝึกสมอง วาดภาพ ระบายสี ช่วยฝึกด้านความคิดสร้างสรรค์และ ทำให้สมองเฉียบคมขึ้น
  7. เรียนรู้ภาษาต่างประเทศช่วยฝึกประสาทการรับรู้ทำให้สมองส่วนหน้าได้ถูกกระตุ้นและใช้งาน
  8. ฟังดนตรี หรือ เล่นดนตรี ช่วยความจำ และดีต่อสุขภาพ
  9. หากิจกรรมใหม่ๆทำเพื่อเสริมความแข็งแกร่งลับสมองให้เฉียบคม
  10. เขียนหนังสือ นวนิยาย เขียนจดหมาย แต่งเพลงช่วยฝึกความคิสร้างสรรค์ และป้องกันอัลไซเมอร์

 

 

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเราอายุเพิ่มขึ้น ความทรงจำก็จะเริ่มเสื่อมถอยโดยธรรมชาติ ดังนั้นฝึกการพัฒนาด้านความคิดที่เป็นบวกจะช่วยพัฒนาทักษะด้าน cognitive skills   เป็นการช่วยชะลอการเสื่อมของสมองลงได้ อาจใช้วิธีการจดบันทึกหลังได้รับรู้สิ่งใหม่ ข้อมูลใหม่ หรือจากการอ่านหนังสือ หมั่นใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในทุกวันในการพัฒนาความจำและเติมความรู้ให้สมอง

นอกจากนี้นักวิทยายาศาสตร์ และนักจิตวิทยาที่ศึกษาลงลึกด้านสมองค้นพบว่าความคิดลบส่งผลต่อการทำลายสมอง ดังนั้นหากเราไม่อยากให้สมองเสื่อมหรือเป็นโรคทางสมองต่างๆเราควรระวังเรื่องความคิดลบเพราะการมี negative thoughts นั้นส่งผลต่อการพัฒนาสมองเป็นอย่างมาก

ลองนำเทคนิคการเปลี่ยนสมองให้คิดบวกบางส่วนที่นักจิตวิทยาใช้บำบัดและดูแลจิตใจและความคิดให้แต่ผู้รับบริการเพื่อให้สมองได้มีการพัฒนา ไม่เสื่อมก่อนเวลา และยังทำให้ชีวิตมีความสุข และช่วยให้ปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี

 

ความคิดลบทำให้เรากังวลและยังส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของสมองอีกด้วย

นักจิตวิทยาพยายามช่วยเหลือผู้มารับบริการให้ตระหนักถึงแบบแผนทางความคิดและวิธีในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และอยู่กับความเป็นจริง

กุญแจสำคัญในการเปลี่ยนความคิดลบคือการเข้าใจวิธีคิดของตนเอง และเปลี่ยนเป็นความคิดเชิงบวก ซึ่งมีผลทำให้ช่วยลดอาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางสมองต่างๆ เช่น dementia และ อัลไซเมอร์ นักจิตวิทยาช่วยให้ผู้รับบริการมีแนวทางในด้านความคิดและพฤติกรรมที่ดีขึ้น เข้าใจการทำงานเรื่องของระบบความคิดที่ส่งผลโดยตรงต่อสมอง

ดังนั้นเราอาจนำวิธีเทคนิคบางส่วนที่นักจิตวิทยาใช้นี้ไปปรับให้เข้ากับชีวิตเพื่อช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและไม่ตื่นกลัวหรือกังวลกับการอยู่ในสังคมมากจนเกินไป

 

 

 

6 เทคนิคในการเปลี่ยนสมองให้คิดบวก

คำแนะนำของนักจิตวิทยามีในการเปลี่ยนสมองให้คิดบวกมีดังนี้

1. ทำความเข้าใจกับวิธีคิดของตัวเอง

ว่าวิธีคิดของเราเป็นแบบไหน โดยเฉพาะการมองตัวเองเป็นบวกหรือเป็นลบ

2. เรียนรู้วิธีที่ค่อยๆเปลี่ยนความคิดลบให้เป็นบวก

ส่วนใหญ่นักจิตวิทยาจะใช้วิธีที่เรียกว่า cognitive restructuring หรือ จิตแพทย์จะใช้ cognitive-behavioral therapy ซึ่งเป็นกระบวกการเข้าใจในวิธีการคิดของตนเอง ให้ความสำคัญกับการรับรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้น และปัญหานั้นคืออะไร ระบุปัญหาให้ชัดเจนเพื่อเริ่มกระบวนการจัดการแก้ไขได้ถูกจุด มีการประเมินถึงปัญหาและสถานการณ์

3. นักจิตวิทยามักจะเน้นเรื่องการทำความเข้าใจกับความคิดของตัวเองเวลาถูกมอง

ถูกวิพากวิจารณ์ หรือถูกติเตียนจากผู้อื่น เพื่อให้เราสามารถรับมือกับปฎิกิริยาด้านอารมณ์ของตัวเองที่อาจเกิดขึ้นได้

4. ใช้การฝึกสมาธิ

ทำให้เรามีสติ หัวใจสำคัญคือต้องการให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองโดยผ่านจากความคิดการกลั่นกรองจากสมองและสามารถควบคุมตัวเองได้

5. ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น

การพยายห้ามไม่ให้คิดหรือปฎิเสธว่าสิ่งปัญหาได้เกิดขึ้นยิ่งทำให้ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้

6. จดบันทึก

วิธีนี้เป็นส่วนหนึ่งในการค่อยๆปรับเปลี่ยนความคิดลบที่นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ใช้ในกระบวนการ cognitive restructuring treatment หรือ Cognitive Behavioral Treatment (CBT) ที่ทำเราสามารถจัดการกับปฎิกิริยาด้านอารมณ์ของเราได้ ทำให้เราได้คิดวิเคราะห์ได้ดีขึ้นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นเหตุเป็นผลเกิดขึ้นและเกิดการยอมรับในปัญหาว่าได้เกิดขึ้นพร้อมหาวิธีแก้ไขและเปลี่ยนความกังวลในปัญหาหรือความคิดลบให้เป็นความคิดบวก

 

ความคิดลบเป็นตัวการทำให้สมองไม่พัฒนาในการเรียนรู้ หรือทักษะการใช้cognitive skills ด้อยประสิทธิภาพ ดังนั้นเราควรฝึกที่จะคิดบวกและแทนที่ความคิดลบด้วยความคิดในแง่ดีและสร้างสรรค์ เพื่อทำให้สมองมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดี และ ชลอการเสื่อมถ้อยของสมอง หากรู้สึกว่าการจัดการด้านความคิดลบของตัวเองมีปัญหาและอยากปรึกษานักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญจากทางBetter Mind สามารถติดต่อสอบถามได้ตลอดเวลา

เฉลย

อ้างอิง:

1. credit picture by Free for kid.com

2. https://www.verywellmind.com/how-to-change-negative-thinking-3024843

3. https://www.aplaceformom.com/caregiver-resources/articles/sharp-mind

4. https://www.newhorizonsvisiontherapy.com/what-is-visual-processing/

5. https://www.apa.org/research/action/speaking-of-psychology/brain-training

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้