ทำไมเพื่อนถึงไม่สามารถบำบัดบาดแผลทางใจให้เราได้

1952 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำไมเพื่อนถึงไม่สามารถบำบัดบาดแผลทางใจให้เราได้

ทำไมเพื่อนไม่สามารถบำบัดบาดแผลทางใจให้เราได้

ดร. มฤษฎ์ แก้วจินดา(Ph.D.) 

นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และ นักจิตบำบัด

Certified EMDR and Brainspotting Psychotherapy 


เพื่อนกับนักจิตวิทยาเราควรจะเลือกปรึกษาใคร?


คนส่วนใหญ่เวลาเจออุปสรรคหรือปัญหามรสุมชีวิตมักจะเลือกปรึกษาเพื่อนเพราะเพื่อนเป็นคนที่เราไว้ใจ และเพื่อนมักจะพูดในสิ่งที่ทำให้เราสบายใจ หรือคำพูดที่เราอยากได้ยิน แต่ความเป็นเพื่อนมีข้อจำกัดด้วยความลำเอียง หรืออคติที่มาจากความรู้จักคุ้นเคยกันมา  เพื่อนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ทว่ากับปัญหาบางด้านของชีวิตกลับไม่เป็นผลดีสักเท่าไร หนำซ้ำยังเป็นการเอาปัญหาของตนเองไปทำให้เพื่อนต้องกังวลใจ ทุกข์ใจตามไปด้วย  

ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อนอาจพยายามที่จะช่วยแก้ปัญหาแทนเรา นั่นยิ่งไปกันใหญ่อาจนำพาไปพบกับความเสี่ยง หรือบางทีอาจทำให้ปัญหาบานปลายซับซ้อนยุ่งยากเข้าไปอีก ดังนั้นนักจิตวิทยาหลายท่านแนะนำว่า เราสามารถคุยปรึกษาเพื่อนได้ในระดับหนึ่ง แต่การไปปรึกษานักจิตวิทยาจะช่วยให้เราออกจากปัญหาได้อย่างถูกแนวทางและเข้าใจตัวเองมากขึ้นในแบบที่ยั่งยืนกว่า เพราะนักจิตวิทยาผ่านการฝึกอบรมช่วยเหลือดูแลด้านจิตใจให้ผู้รับบริการมาอย่างเชี่ยวชาญ

 

โดยเฉพาะปัญหาเหล่านี้ขอแนะนำว่าไปพบนักจิตวิทยาจะคุ้มค่ากับเวลาและได้แนวทางที่ดีกว่า เช่น ความเศร้าโศกเสียใจอันเกิดจากเหตุการณ์สูญเสีย การจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก ความวิตกกังวล หวาดกลัว ภาวะซึมเศร้า บาดแผลทางใจ การเสพติดบางสิ่งบางอย่าง ปัญหาสัมพันธภาพ และความเครียด ภาวะอารมณ์แปรปรวน หรือ เรื่องกระทบกระเทือนจิตใจอื่นๆ

ทั้งนี้เนื่องจากนักจิตวิทยาเป็นผู้ผ่านการฝึกฝนอบรมจนเชี่ยวชาญมีความรู้ด้านจิตวิทยาทางการแพทย์ในเชิงวิทยาศาสตร์เรื่องการดูแลสุขภาพจิตใจอย่างมืออาชีพ การช่วยเหลือย่อมได้ผลที่ดีมีหลักการมากกว่า อย่ากลัวหรือรู้สึกอายที่จะมาพบนักจิตวิทยาเพราะนักจิตวิทยาเป็นผู้รับฟังที่ดีและคอยช่วยเราไขปัญหาโดยไม่มีภาวะทางอารมณ์ที่ขุ่นเคืองสร้างความไม่สบายใจให้เราเวลามาปรึกษา



เพื่อนเป็นคนที่มีความสำคัญในชีวิตของเรา เป็นคนที่คอยช่วยเหลือเรา แบ่งปันทุกข์-สุข ประสบการณ์ทั้งดี-เลว ยอมรับในตัวตนเราก็จริง แต่เพื่อนไม่ใช่นักจิตวิทยาส่วนตัวของเรา ไม่ใช่ผู้ที่จะมาบำบัดจิตใจให้กับเราในเรื่องปัญหาครอบครัว หรือปัญหาส่วนตัว และด้วยเหตุผลหลายประการที่เพื่อนมีความเกี่ยวข้องด้านสัมพันธภาพที่ลึกซึ้งกับเราทำให้การบำบัดทางใจจึงสามารถเกิดความโอนเอียงไม่เป็นธรรมได้ง่ายดาย


 

 

ในทางกลับกันนักจิตวิทยานั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในเชิงสัมพันธภาพส่วนตัวกับเรา ดังนั้นความเป็นมืออาชีพที่ช่วยบำบัดดูแลด้านจิตใจจึงมีประสิทธิภาพมากกว่า  และนั้นคือเหตุผลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการช่วยเหลือหรือบำบัดด้านจิตใจของนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ อย่างที่หลายคนอาจเคยรู้สึกอึดอัดเวลาที่เพื่อนให้คำชี้แนะในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยและเพื่อนอาจโกรธ หรือหงุดหงิดเวลาเราไม่ทำตามคำแนะนำ


ดังนั้นอยากแบ่งปัน ข้อคิดสักนิดว่า เพื่อนหรือคนในครอบครัวอาจสนับสนุนเราในเรื่องความรัก ความอบอุ่นและกำลังใจ แต่พวกเขาไม่เหมาะที่จะมาให้การปรึกษาหรือทำจิตบำบัดให้เรา พวกเขาไม่สามารถทำหน้าที่เป็นนักจิตวิทยาส่วนตัวให้เราได้ ดังนั้นการไปพบนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับความช่วยเหลือหรือบำบัดด้านจิตใจให้มีชีวิตกลับมามีความสุขหรือใช้ชีวิตได้เป็นปกติสุขเช่นเดิมจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าและมีประโยชน์มากกว่า ลองมาดูกันว่าเพราะอะไรเพื่อนถึงไม่สามารถเป็นนักจิตวิทยาส่วนตัวให้เพื่อนได้


Credit picture by mylovelytext.com

 

11 เหตุผลที่เพื่อนไม่สามารถทำการบำบัดด้านจิตใจ หรือเป็นนักจิตวิทยาส่วนตัวให้เพื่อนได้

1. อคติ

เนื่องจากเพื่อนรู้จักเราเป็นการส่วนตัว ทำให้อ่อนไหว มีอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง รู้สึกเห็นอกเห็นใจเพื่อนจนไม่กล้าบอกความจริงให้เพื่อนรู้กลัวไม่สบายใจ

2. การฝึกอบรมด้านจิตวิทยาอย่างเชี่ยวชาญ

นักจิตวิทยาผ่านการเรียนรู้ฝึกอบรม มีหลักและวิธีการในการช่วยเหลือหรือบางกรณีต้องทำจิตบำบัดก็ทำได้อย่างลงลึกเข้าใจในปัญหาที่มากกว่าด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมา ดังนั้นการมาปรึกษานักจิตวิทยาจึงเป็นการช่วยดูแลด้านจิตใจที่ดีกว่าและเหมาะสมกว่า

3. การรักษาความลับ

นักจิตวิทยาจะยึดถือจริยธรรมในวิชาชีพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดควบคู่ไปกับการให้บริการช่วยเหลือด้านจิตใจอย่างมีคุณธรรม นักจิตวิทยาจะเก็บรักษาความลับและข้อมูลส่วนตัวของผู้มารับบริการไว้เป็นอย่างดีและไม่เผยแพร่ให้ใครได้ล่วงรู้


4. การตัดสิน

เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่อดไม่ได้ในการใช้ความคิดเห็นส่วนตัวไปตัดสินปัญหาของคนอื่นหรือเลือกทางออกให้ผู้อื่นในแบบที่ตนเองคิดว่าดีแล้ว
หลายคนเมื่อปรึกษาเพื่อนแล้วกลับรู้สึกว่าคิดผิดเพราะต้องกลับมาคิดทบทวนว่า ถ้ารู้แบบนี้ไม่บอกให้พื่อนรู้ซะดีกว่า นักจิตวิทยาจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญจะรับฟังอย่างเข้าใจ ทำให้เรารู้สึกสบายใจและสร้างบรรยากาศให้พร้อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

5. ความเป็นมืออาชีพ

นักจิตวิทยามากด้วยประสบการณ์และการบ่มเพาะการฝึกฝนอบรมด้านการดูแลจิตใจมาเป็นระยะเวลานานดังนั้นย่อมเห็นภาพหรือปัญหาได้ชัดเจนกว่าคนทั่วไป

6. ความต่อเนื่อง

เพื่อนอาจล้มเลิกที่จะช่วยเหลือหากไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือช่วยเหลือเราได้อีกต่อไป ต่างจากนักจิตวิทยา ตราบใดที่ภาวะด้านจิตใจหรือปัญหาทางใจยังไม่คลี่คลายนักจิตวิทยาก็จะไม่ทิ้งเราและพร้อมที่จะช่วยเหลือทุกทางที่จะทำให้มีชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

7. การเป็นตัวของตัวเอง

บางครั้งเราอาจรู้สึกเกรงใจเพื่อนหรือไม่กล้าบอกความจริงเพราะกลัวเพื่อนจะดูถูก หรือ ไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง แต่การมาพบนักจิตวิทยาเราสามารถที่จะเป็นตัวเองและเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงได้

8. สามารถหยุดใช้บริการเมื่อไรก็ได้

การมาพบนักจิตวิทยาเราสามารถหยุดมาพบเมื่อไรก็หากเรารู้สึกดีขึ้นแล้ว ต่างจากการปรึกษาเพื่อนอาจเป็นเรื่องยากหากเราอยากจะบอกว่าเราไม่ต้องการคำแนะนำจากเพื่อนอีกต่อไปแล้ว

9. มีแผนการช่วยเหลือและเป้าหมายที่ชัดเจน

นักจิตวิทยามีแผนการชัดเจนที่จะช่วยพลักดันสนับสนุนเราให้ไปถึงจุดหมายในการแก้ปัญหาที่ได้วางไว้ แต่เพื่อนอาจไม่ได้คิดถึงในจุดนี้ และเป้าหมายของเพื่อนอาจต่างจากเป้าหมายที่เราต้องการจริงๆ

10. ให้ความใส่ใจในความสำเร็จ 

นักจิตวิทยาใส่ใจผลสำเร็จของเราในการแก้ปัญหา แต่เพื่อนอาจใส่ใจกับการทุ่มเทเวลาในการอยู่ร่วมกับเรา สังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้มากกว่าการโฟกัสไปที่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

11. ความเหนื่อยล้าที่จะรับฟังปัญหา 

เพื่อนอาจรู้สึกเหนื่อยหน่ายในการรับฟังปัญหาต่างๆของเราจนไม่อยากฟังอีกต่อไป ซึ่งต่างจากนักจิตวิทยาที่ต้องการช่วยเหลือคนให้กลับมาเข้มแข็งเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในชีวิตให้ได้ นักจิตวิทยาใส่ใจที่จะช่วยเหลือคนที่มีปัญหาให้ได้รับการฟื้นฟูด้านจิตใจและแก้ไขความไม่สบายใจเพื่อพบทางออกที่ดีในการใช้ชีวิตที่มีความสุข

เมื่อมาพบนักจิตวิทยาเราควรเปิดใจและกล้าที่จะเล่าปัญหาที่ไม่สบายใจหรืออยากแก้ไขสิ่งที่ยังเป็นกังวลให้นักจิตวิทยาฟังเพื่อผลลัพธ์ของการบำบัดรักษาดูแลด้านจิตใจที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

 


 

อ้างอิง:

  1. https://www.wellnite.com/post/pros-cons-therapy-friend
  2. https://drjessematthews.com/
  3. foresightmentalhealth.com
  4. https://www.bettermindthailand.com/


   

 

 

 

 

 

 

 


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้