นักจิตวิทยาคือใคร?

67146 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นักจิตวิทยาคือใคร?

นักจิตวิทยาคือใคร และ มีหน้าที่อะไร

 

 

 

ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
EMDR Psychotherapy Supervisor and Brainspotting Psychotherapy Practictioner

 

นักจิตวิทยาคือใคร?

นักจิตวิทยาเป็นผู้ที่ศึกษาลงลึกด้านจิตใจของมนุษย์และเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสภาวะทางจิตใจ และอารมณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม ทัศนคติ และการใช้ชีวิตของคน นักจิตวิทยาไม่ได้ทำหน้าที่แค่ให้คำปรึกษาแนะนำหรือ talk therapy อย่างเดียวเท่านั้น แต่นักจิตวิทยายังทำการศึกษาทางด้านจิตวิทยาที่ครอบคลุมไปถึงปัญหาทางด้านจิตใจที่ซับซ้อนไปในอีกหลายส่วน โดยเฉพาะด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของคน และพฤติกรรมการตอบสนองของสัตว์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์  ซึ่งงานวิจัยและการทดลองถือเป็นหนึ่งในงานที่สำคัญของนักจิตวิทยาเลยทีเดียว

 

งานของนักจิตวิทยามีอะไรบ้าง?

นักจิตวิทยาใช้ความรู้ด้านจิตวิทยาที่ได้จากการร่ำเรียน จากการศึกษาทดลองและการทำวิจัยมาช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตให้แก่ผู้ป่วย นักจิตวิทยานำศาสตร์ด้านจิตวิทยามาช่วยบำบัดอาการเจ็บป่วยด้านจิตใจของคนที่แสดงออกในลักษณะต่างๆ เช่นความป่วยด้านจิตใจที่เกิดมาจากความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ปัญหาและอุปสรรค์อันหลากหลายของการใช้ชีวิต

นักจิตวิทยาใช้เทคนิคด้านจิตวิทยาและศาสตร์ความรู้ด้านจิตวิทยามาผสมผสานในการช่วยเหลือคนให้ดีขึ้นจากอาการเจ็บป่วย รวมทั้งยังได้ช่วยเหลือสังคมด้วยการนำผลงานวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลลัพธ์เป็นที่ยอมรับผ่านความเห็นชอบจากสมาคมนักจิตวิทยาและในวงการแพทย์มาเผยแพร่ เพื่อแบ่งปันความรู้ในงานวิจัยที่เป็นประโยชน์นี้ให้กับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาเพื่อเผยแพร่ให้ผู้อื่นรับรู้ต่อไป รวมทั้งยังได้กระจายความรู้ไปในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือองค์กรอิสระที่ต้องการการอบรมผู้ที่สนใจเพื่อนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ต่อการช่วยเหลือผู้คนในสังคมในหลายๆด้าน



ศาสตร์ทางด้านจิตวิทยามีอะไรบ้าง?

ศาสตร์ด้านจิตวิทยาแตกแขนงไปในหลายสาขา ในแต่ละสาขามีการศึกษาลงลึงเฉพาะทางและเกี่ยวข้องกับการศึกษาและงานวิจัยสามารถแบ่งเป็นสาขาใหญ่ๆได้ 3 ประเภทดังนี้

 

  • นักจิตวิทยาประยุกต์ –คือนักจิตวิทยาที่นำหลักการทางจิตวิทยา และงานวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหาสังคมหรือหน่วยงานเพื่อทำให้การทำงานเกิดการพัฒนา นักจิตวิทยาในแขนงนี้ได้แก่ นักจิตวิทยาอุตสาหกรรม นักจิตวิทยาวิศวกรรม นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมการบิน นักจิตวิทยาองค์กร และนักจิตวิทยามมนุษยสังคม

 

  • นักจิตวิทยาเพื่อการวิจัย- คือนักจิตวิทยาที่คิดค้นและทำการทดลองด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการสังเกตพฤติกรรมของคนและสัตว์ที่นำมาใช้ร่วมในงานวิจัย นักจิตวิทยาแขนงนี้ ส่วนใหญ่จะทำงานให้กับมหาวิทยาลัย หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยงข้อง หรือภาคธุรกิจของบริษัทเอกชน งานวิจัยจะมีความหลากหลายและส่วนใหญ่จะมุ่งให้ความสำคัญไปที่ การรับรู้ของคน ปรากฎการทางสังคมต่อสิ่งเร้า การตอบสนองต่อระบบประสาทและสมองที่ส่งผลต่อความคิด พฤติกรรมของคน มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบุคคลิคภาพ คุณลักษณะของแต่ละบุคคล การพัฒนาของคนแต่ละคน การตอบสนองต่อการเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือการพฤติกรรมการบริโภค เน้นงานวิจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมและผลต่อกิจกรรมทางสังคม

 

  • นักจิตวิทยาเพื่อการบำบัด- คือนักจิตวิทยาที่ทำงานตรงกับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านจิตใจและส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำงานกับคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและส่งผลกระทบทางด้านร่างกาย หรือผู้ที่ความผิดปกติด้านจิตใจมีมากจนส่งผลต่อการแสดงออกด้านพฤติกรรมและบุคคลิกภาพ นักจิตวิทยาแขนงนี้ส่วนใหญ่จะทำงานร่วมกับจิตแพทย์ในโรงพยาบาล หรือหน่วยงานของรัฐบาล แต่ก็มีบ้างที่ทำงานในสถาบันบำบัดด้านจิตใจของเอกชน นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัดส่วนใหญ่ ได้แก่ นักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตวิทยาคลินิค และนักจิตวิทยาการศึกษาสำหรับโรงเรียน




มาตรฐานและ การอบรม

นักจิตวิทยาทุกแขนงสาขาต้องได้รับการรับรอง ผ่านการเรียนจบหลักสูตรที่กำหนดไว้อย่างมีมาตรฐาน และต้องผ่านการอบรมต่อยอดในสาขาวิชาเฉพาะที่ตนเลือกตามที่สนใจและถนัด โดยยึดถือชั่วโมงการฝึกปฎิบัติจนเชี่ยวชาญเป็นสำคัญ ต้องสามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาด้านทฤษฎีมาประยุกต์ใช้เพื่อทำการบำบัดรักษาผู้มารับบริการได้อย่างเชี่ยวชาญภายใต้การกำกับดูแลจากหัวหน้าหน่วยงานที่ไปปฎิบัติหน้าที่ หรืออยู่ในการควบคุมคุณภาพด้านการบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตใจจากอาจารย์นักจิตวิทยาอาวุธโสจนผ่านการรับรองมาตรฐานและพร้อมที่จะสามารถออกไปสู่การปฎิบัติงานจริงได้


 

นักจิตวิทยา และ จิตแพทย์

หลายคนมีความสงสัยและไม่แน่ใจว่าความแตกต่างระหว่างการทำงานของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองอาชีพทั้งนักจิตวิทยาและจิตแพทย์เป็นอย่างไรและควรไปพบใครเมื่อถึงเวลาจำเป็นที่ต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจ


อธิบายให้เข้าใจดังนี้ว่านักจิตวิทยาและจิตแพทย์มีความสำคัญต่อการช่วยเหลือดูแลด้านจิตใจของคนด้วยกันทั้งคู่ จิตแพทย์มีความเชี่ยวชาญเรื่องการใช้ยาบำบัดอาการทางจิตเวชดังนั้นโรคที่เกี่ยวกับจิตเวชที่มีผลต่อสมอง เช่นสารเคมีในสมองไม่สมดุลย์ตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากติดสารเสพติด มีอารมณ์แปรปรวนควบคุมตัวเองไม่ได้ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น ก็ควรได้รับยาจากจิตแพทย์ในการปรับสมดุลย์

นักจิตวิทยาเชี่ยวชาญเรื่องปมปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รบกวนจิตใจ ปมอดีตที่ไม่ได้รับการแก้ไขมีผลทำให้เกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้าอารมณ์ไม่ปกติควรได้รับการบำบัดด้วยการปรับพฤติกรรม ปรับทัศนคติความคิดหรือ ทำจิตบำบัดที่เข้าไปทำงานตรงกับสมองส่วนลึกและส่วนกลางด้านความทรงจำเพื่อให้มีการทำงานด้านสมองส่วนความทรงจำที่ไหลเวียนดีขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงสุขภาพด้านจิตใจกลับมาแข็งแรงดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป

การศึกษาและพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกันของทั้งสองผู้เชี่ยวชาญจึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ในการให้บริการเพื่อการรักษาที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพต่อผู้มารับบริการ

นักจิตวิทยาเปรียบได้กับหมอทางด้านจิตใจ ที่คอยช่วยคนให้เรียนรู้ที่จะจัดการกับสถานการณ์ความเครียดต่างๆในชีวิต ช่วยให้คนสามารถเอาชนะอุปสรรค์ภายในใจที่อ่อนแอของตัวเองไม่ไปพึ่งการบรรเทาความเจ็บปวดด้านจิตใจเพียงชั่วคราวที่ผิดวิธี เช่นการไปติดยาเสพติด การติดสุรา หรือเสพติดอบายมุขบางสิ่งบางอย่าง

อาการเจ็บป่วยทางใจที่ฝังลึกยาวนานส่งผลต่อการบั่นทอนร่างกายและเป็นปัญหาเรื้อรังต่อสุขภาพใจจนส่งผลต่อการแสดงออกทางด้านบุคคลิคภาพที่บกพร่อง โรคเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล eating disorders นอนไม่หลับ โรคจิตเภทต่างๆ ล้วนมีสาเหตุและที่มาที่ไปที่หลากหลายแตกต่างกันที่มาจากปมในอดีตหรือบาดแผลทางใจที่ไม่ได้รับการแก้ไข

นักจิตวิทยาให้การบำบัดด้านจิตใจและวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยทางใจ ความรู้สึก อารมณ์ และพฤติกรรมที่เป็นปัญหาเพื่อช่วยให้ผู้มารับบริการได้รับการแก้ไขและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป

หัวใจของการเป็นนักจิตวิทยานั้นต้องผ่านการศึกษาและการฝึกฝนด้านทักษะในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตให้ผู้มารับบริการอย่างเชี่ยวชาญและมีมาตรฐานในวิชาอาชีพ การเรียนและการอบรมใช้เวลายาวนานเกินกว่า 12 ปีเป็นอย่างน้อยการเรียนรู้ในศาสตร์ทางจิตวิทยาอาจพูดได้ว่าเป็นการเรียนรู้แบบไม่วันสิ้นสุดและต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

การทำงานวิจัยและการทดสอบทางจิตวิทยามักจะทำให้ได้ค้นพบวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์การรักษาทางจิตวิทยาใหม่ๆเสมอ ดังนั้นผู้ที่สนใจงานด้านจิตวิทยาควรต้องศึกษาต่อเนื่องในศาสตร์การรักษาใหม่ๆและต้องมีความไฝ่รู้ที่จะพัฒนาตนเองหาความรู้อยู่ตลอดเวลา

การเรียนขั้นพื้นฐานเป็นเพียงแค่ทฤษฎีเบื้องต้น ระยะเวลาและขั้นตอนการผ่านวิชาชีพและใบประกาศนียบัตรหรือ ใบประกอบโรคศิลปะต่างๆนั้นมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและยุ่งยากทั้งนี้ก็เพราะการทำงานด้านจิตวิทยาเกี่ยวข้องกับชีวิตและจิตใจของคนโดยตรงดังนั้นจรรยาบรรณในวิชาชีพนี้จึงค่อนข้างเข้มงวดและมีรายละเอียดขั้นตอนค่อนข้างเยอะ

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นหัวใจของการเป็นนักจิตวิทยาคือต้องมีความตั้งใจอันดีงามที่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่นให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดด้านจิตใจที่เขากำลังเผชิญอยู่ โดยไม่คิดฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากสภาวะทางจิตใจที่กำลังอ่อนแอของผู้มารับบริการ

การทำงานของนักจิตวิทยานั้นจะต้องอาศัยความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจเป็นอย่างมากในการแก้ไขความเจ็บป่วยด้านจิตใจให้กับผู้อื่นเพื่อให้เขาได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและยังสร้างสังคมที่มีทัศนคติบวกเพิ่มขึ้นอีกด้วย หากความเจ็บป่วยด้านจิตใจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของเราก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ควรมาพบนักจิตวิทยา
 

อ้างอิง

https://www.verywellmind.com/what-is-a-psychologist-2794926


https://www.apa.org/topics/psychotherapy/about-psychologists

https://pacifichealthsystems.com/blog/should-you-see-a-psychiatrist-or-a-psychologist-first/



 




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้