ถึงเวลารึยังที่ควรมาพบนักจิตวิทยา

1105 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ถึงเวลารึยังที่ควรมาพบนักจิตวิทยา

ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D)

นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และนักจิตบำบัด

Certified EMDR and Brainspotting psychotherapy

 

ถึงเวลารึยังที่ควรมาพบนักจิตวิทยา?

บางครั้งความเจ็บป่วยทางใจอาจไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเรากำลังมีปัญหาชีวิตที่ต้องพูดคุยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา หรือแม้กระทั่งการมาขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาเราอาจไม่คุ้นเคย ไม่รู้ต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร และฟังดูเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับว่าเรากำลังมีปัญหาด้านสุขภาพใจ

อย่างไรการมาพบนักจิตวิทยาเพื่อได้รับการแก้ไขไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติใดๆ เป็นการป้องกันปัญหารุมเร้าที่ไม่ได้รับการแก้ไขและอาจก่อกวนทำให้เราทุกข์ใจจนไม่เป็นตัวของตัวเองรวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว คนรอบข้างและคนที่รักได้ ดังนั้นไม่ควรรอช้าเพราะบางครั้งเราคิดว่าเราปกติแข็งแรงดี แต่สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปก็อาจสร้างปัญหาให้กับเราโดยที่เราไม่ทันได้ตั้งตัวได้เช่นกัน และไม่ว่าจะเป็นเรื่องไม่สบายใจใดทั้งหนักหนาสาหัสหรือไม่สาหัสก็ตามการมาปรึกษานักจิตวิทยาก็เป็นทางเลือกที่ดีต่อการดูแลจิตใจในการหาทางแก้ไข และป้องกันความท้าทายที่เข้ามาในชีวิตเพื่อให้ชีวิตได้รับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นมากกว่าแย่ลง นอกจากนี้ยังเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อตนเองและคนใกล้ชิดอย่างที่คาดไม่ถึงอีกด้วย

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเราควรได้รับความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตใจในเรื่องปัญหาสุขภาพจิตอาจมีข้อสังเกตได้จากสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้

5 สัญญาณที่บอกว่าเราควรมาพบนักจิตวิทยา

1.    ไม่สามารถคุมความศร้า ความโกรธได้

หากเราไม่สามารถควบคุมความรู้สึกเศร้า ความโกรธได้ และยังรู้สึกสิ้นหวังหมดหวังโดยไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองอาจเป็นสัญญาณเตือนด้านสุขภาพจิตที่ต้องการความช่วยเหลือก่อนจะลามไปถึงสาเหตุการนอนไม่หลับกินไม่ได้ ตัดขาดสังคมเพื่อนฝูง ครอบครัว และอาจมีคำถามกับตัวเองถึงเรื่องคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ต่อไปทำให้เกิดเป็นความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตาย หากความคิดนี้เกิดขึ้นควรรีบมาพบนักจิตวิทยาโดยด่วน

2.    เสพติดอบายมุข

การเสพติดอะไรก็ตามเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดเพราะปัญหาจากข้างในจิตใจยังไม่ได้รับการแก้ไข บางคนจึงเสพติดสารเสพติดติดยา ติดเหล้า เสพติดการมีเซ็กส์ หรือเสพติดการกินเพื่อให้ลืมปัญหาแต่นั้นไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่การไม่ได้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตต่างหากที่ยังคงเป็นปัญหา ปัญหาจากภายในจิตใจ ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิดที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจึงยังทำปัญหาอยู่ และหากได้มาพบนักจิตวิทยาจะช่วยให้เราเห็นถึงสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาและมีการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาในชีวิตที่ดีขึ้น

3.    สูญเสียสิ่งสำคัญในชีวิต

การสูญเสียอาจเป็นเรื่องยากในการทำใจสำหรับหลายคนและการรับมือกับการสูญเสียโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นไปไม่ได้ในบางคนดังนั้น เราไม่ควรรู้สึกอายหากต้องมาพบนักจิตวิทยาในเรื่องการสูญเสียคนรักจากการหย่าร้าง เลิกรากัน หรือสูญเสียตำแหน่งงานที่สำคัญ หรือสูญเสียสิ่งที่รักหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน

4.    มีปมบาดแผลทางใจ

หากเราเคยบาดเจ็บทางใจจากการถูกทำร้าย การถูกทอดทิ้ง หรือถูกปล้นจี้ ประสบอุบัติเหตุ เกิดเป็นบาดแผลทางใจที่ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตในเวลาต่อมาควรรีบมาพบนักจิตวิทยาเพื่อการแก้ไขจัดการ ยิ่งมาพบเร็วจิตใจยิ่งกลับมาแข็งแรงเป็นปกติได้เร็ว

5.    เบื่อสิ่งที่เคยชอบทำ

หากเราหยุดทำในสิ่งที่เราเคยชอบด้วยการถูกรบกวนจากอารมณ์ที่ไม่เป็นปกติจากจิตใจด้านในเราควรต้องมาพบนักจิตวิทยาโดยเร็ว จากสถิติในปี 2001-2006 พบว่าการได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาจะสามารถช่วยให้การดำเนินชีวิตนั้นดีขึ้นกว่าการไม่มาพบ และมีจำนวน 88 เปอร์เซนต์ของคนที่มาพบนักจิตวิทยามีชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากที่มาพบนักจิตวิทยาเพียงแค่หนึ่งครั้ง สามารถเจอทางออกและปลดล็อคปมปัญหาที่ทำให้ทุกข์ใจและเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก มีการวางแผนการดำเนินชีวิตที่ดีและการตัดสินใจในการแก้ปัญหาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

 
อย่างไรก็ตามหากเรามีสัญญาต่างๆดังนี้ก็ควรรีบมาพบนักจิตวิทยาด้วยเช่นกันไม่ควรรอช้าสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าเราควรมาพบนักจิตวิทยามีอะไรบ้าง เราควรให้ความใส่ใจและหมั่นสำรวจตัวเองอยู่เสมอ

1.     โฟกัสกับการทำงานไม่ได้

ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความไม่สบายใจออกอาการรบกวนการทำงาน มีปัญหาเรื่องการจัดการอารมณ์ตัวเองเข้ามาเกี่ยวข้องและทำให้ผลงานตกลงอย่างมากเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด หมดไฟ เหนื่อยล้า

2.     เบื่อทุกอย่าง

ไม่มีแรงพลังที่อยากทำอะไร รู้สึกเบื่อ สิ้นหวัง ท้อแท้และเป็นอยู่นานกว่า2 สัปดาห์โดยไม่รู้สาเหตุ

3.     การนอนผิดปกติ

เช่น นอนเยอะเกินไป หรือตื่นกลางดึกทำให้หลับยาก เหนื่อยล้านอนไม่พอ ตื่นมาไม่สดชื่น หรือนอนไม่หลับ

4.     เจ็บปวดตามร่างกาย

เช่น ปวดหัว ปวดตัว ปวดท้อง เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตส่งผลต่อปัญหาสุขภาพร่างกาย มีความวิตกกังวล ซึมเศร้า เครียด หากแก้ความไม่สบายใจได้ปัญหาเจ็บป่วยด้านร่างกายก็จะดีขึ้นตามมา

5.     น้ำหนักไม่คงที่

ความเครียดและอารมณ์ไม่ปกติส่งผลต่อการกินซึ่งอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือในบางคนก็ลดลงผิดปกติเป็นผลมาจากสุขภาพจิตหากจิตใจดีขึ้นการกินก็จะกลับมาเป็นปกติ

6.     มีพฤติกรรมเสี่ยง

มีแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง คนมีปัญหาสุขภาพจิตส่งผลต่อความคิดลบ อารมณ์แปรปรวน และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ติดเหล้า ติดสารเสพติด อบายมุขต่างๆ หรือติดบางสิ่งบางอย่างเพื่อหาที่พึ่งทางใจเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีแต่อาจแฝงไว้ด้วยความอันตรายและอาจก่อให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา

7.     อารมณ์แปรปรวนส่งผลต่อสัมพันธภาพ

อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายไม่มีความอดทนในเรื่องเล็กน้อยจนทำให้มีปัญหากับคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน ทำให้ยากที่จะได้รับการยอมรับและเป็นสาเหตุของการแยกตัวออกจากสังคม ทำให้โดดเดี่ยวและมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ตามมา

ควรมาพบนักจิตวิทยาทันทีเลยไหม

อารมณ์ฉุนเฉียวหากเป็นแล้วหายได้ด้วยตัวเองก็ไม่จำเป็นต้องมาพบนักจิตวิทยาแต่ถ้าความโกรธ หงุดหงิดเป็นอยู่นานเกิน2 สัปดาห์และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นควรมาพบนักจิตวิทยา จำไว้ว่าการมาพบนักจิตวิทยาไม่ใช่เป็นการแสดงว่าเราอ่อนแอแต่การมาพบผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเป็นการช่วยให้เรามีสุขภาวะทางจิตใจที่ดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น หากเราได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจที่ช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเราเองและมีทักษะในการแก้ปัญหาในวิธีที่ปลอดภัยกับตัวเองได้จะช่วยให้เรามีการพัฒนาทักษะในการแก้ไขปัญหาชีวิตได้ในครั้งต่อๆไป

ทุกวันนี้การสื่อสารและบริการด้านจิตวิทยาได้รับความสะดวกมากขึ้น หากเราไม่สะดวกในการเดินทางไปพบนักจิตวิทยาถึงคลินิกเราก็มีทางเลือกในการรับบริการปรึกษาผ่านทางออนไลน์วิดีโอคอลเสมือนได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาแบบพบตัวในเวลาreal time ดังนั้นอย่าปล่อยให้สุขภาพจิตใจอ่อนแอโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา พูดคุยปรึกษานักจิตวิทยาตั้งแต่วันนี้เพื่อชีวิตที่มีความสุขต่อไป

อ้างอิง

https://www.psychologytoday.com/us/magazine/archive/2022/01

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้