11148 จำนวนผู้เข้าชม |
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D)
Dr. Marid Kaewchinda
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
นักจิตบำบัด EMDR Psychotherapy/ Brainspotting Psychotherapy Practitioner
ปัญหาชีวิตคู่กับการนอกใจ
อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง
การนอกใจอาจถือเป็นสัญญาณเตือนอย่างมีนัยสำคัญในความความสัมพันธ์ของคนสองคน การนอกใจอาจเป็นสัญญาณที่บอกทั้งคู่ว่าควรตระหนักถึงความสัมพันธ์ของกันและกันและควรให้เวลากับการแก้ไขปรับปรุงความสัมพันธ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างจริงจังหากคิดที่จะเก็บความสัมพันธ์ที่มีค่านี้ไว้ต่อไป
โดยปกติปัญหาการนอกใจส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมากจากความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ที่มีความอ่อนแอ ความคิดเห็นที่มีแต่ความขัดแย้ง การถูกละเลยในความสัมพันธ์ ไม่มีความโรแมนติกให้กัน ขาดการดูแลเอาใจใส่ด้านจิตใจซึ่งกันดังนั้นจึงนำสู่ปัญหาการนอกใจ
สาเหตุโดยทั่วไปของการนอกใจในสัมพันธภาพที่มีปัญหา
1. ไม่มีความสุขหรือรู้สึกไม่พอใจในชีวิตคู่
โดยมากเกิดจากปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์และปัญหาด้านเซ็กส์ ผู้หญิงมักเป็นฝ่ายที่ต้องแบกรับการทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้านรวมทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลลูก
หากหน้าที่และความเสียสละนี้ไม่ได้รับการตอบสนองหรือเห็นคุณค่าจากสามีก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการนอกใจได้ ในทำนองเดียวกันหากภรรยายุ่งกับเรื่องภาระหน้าที่จนลืมให้ความสำคัญกับสามีก็อาจเป็นเหตุให้นำสู่การไปหาคนที่เห็นความสำคัญเพื่อมาเติมเต็มให้ชีวิตได้
2. กลัวการผูกมัด
การที่คนรักกันไม่ให้คำมั่นสัญญา ไม่คิดที่จะมีสัมพันธภาพในระยะยาวกับคู่รักของตนก็ยากที่จะไม่เกิดการนอกใจ
3. เบื่อหน่ายจำเจ
ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต้องการความตื่นเต้นแปลกใหม่ในชีวิตและต้องการแสวงหาสิ่งที่ขาดมาเติมแต่งให้ชีวิต
4. เพื่อการยืนยันภาพลักษณ์ตัวเอง
ส่วนใหญ่วัยกลางคนมันรู้สึกว่าการนอกใจกับคนที่เด็กกว่ามากอย่างคนรุ่นลูกทำให้ตัวเองรู้สึกว่าเขายังมีดี
5. ต้องการแก้แค้น
ต้องการนอกใจเพื่อเอาคืนอีกฝ่ายที่นอกใจตนก่อน
6. สาเหตุอื่นๆ
เช่น โอกาสและสถานการณ์พาไป อย่างเดินทางไปทำงานในต่างที่กับคนอื่น การใช้อินเตอรเน็ตดูภาพเปลือย หรือมีโอกาสได้เจอใครบางคนในโลกออนไลน์ มีคนเข้ามาเอาอกเอาใจและไม่รู้จักปฎิเสธอย่างไรและก็ยอมรับปล่อยเลยตามเลย
อย่างไรก็ดีการนอกใจสามารถเกิดขึ้นได้แม้ในความสัมพันธ์กับชีวิตคู่ที่ดูราบรื่น มีความสุขและโรแมนติก การนอกใจแบบยังรักกันและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในทุกวันไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน แท้จริงแล้วเบื้องลึกของความสัมพันธ์ที่ดีและอบอุ่นของชีวิตคู่แบบนี้กลับมีเรื่องนอกใจได้อย่างไร และมันเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่
Robert Weiss จาก Psychologytoday ได้ให้เหตุผลว่า การนอกใจอาจไม่เป็นสัญญาณอย่างชัดเจนของการแตกหักในชีวิตคู่ การที่ฝ่ายหนึ่งได้นอกใจอีกฝ่ายอาจเป็นความปรารถนาที่ต้องการค้นหาประสบการณ์บางอย่างที่ตนอยากสัมผัสหรือโหยหามาเป็นเวลานาน หรือใช้เป็นเครื่องมือในการเยียวยาด้านจิตใจบางอย่างให้กับตนเอง
อย่างไรก็ตามในเชิงการวิเคราะห์ของนักจิตวิทยาอาจกล่าวได้ว่าการที่ฝ่ายใดนอกใจคู่ชีวิตที่เคยได้ให้คำมั่นสัญญาในความรักอันยืนยาวนั้น อาจเกิดจากปมภายในจิตใจที่เคยมีอยู่และยังไม่ได้รับการรักษา ปมปัญหาหรือความฝังใจ และปมค้างใจนั้นอาจมาจากหลายสาเหตุปัจจัยเช่น ปมปัญหาจากการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็ก การถูกทอดทิ้ง การต้องพลัดพรากหรือต้องแยกจากบุคคลอันเป็นที่รักทำให้เกิดเป็นปมด้อยและบาดแผลทางใจและการนอกใจเป็นการหาทางออกโดยใช้รสนิยมและความต้องการทางเพศเพื่อปลดปล่อยหรือหลีกหนีจากความเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่ในใจ
เหตุผลของการนอกใจในขณะที่ชีวิตคู่มีความสัมพันธ์ที่ดี
แบ่งได้เป็น4 สาเหตุดังนี้
1. อยากค้นหาตัวเอง
การนอกใจสามารถทำให้เขาได้เป็นตัวของตัวเองและได้ทำในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้มาเป็นเวลานานและมักไม่รู้สึกว่าการกระทำนี้เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาแต่อย่างใดเพราะเขาจะมองแค่ตัวเอง และไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวตนเพียงแต่ต้องการแสวงหาบางสิ่งที่มาตอบสนองสิ่งที่ตนรู้สึกขาด
2. ต้องการความตื่นเต้น
การมีสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่ของตนนั้นเป็นเรื่องต้องห้าม และนั่นเป็นการเพิ่มความอยากในการมีเซ็กส์ให้ตื่นเต้นเหมือนตอนวัยรุ่นและรู้สึกว่าเรื่องที่ต้องห้ามยิ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าลอง
3. อยากปลดปล่อยตัวเองจากการถูกจองจำ
การนอกใจเป็นการทำเพื่ออยากรู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรเมื่อไม่ได้อยู่กับคู่ชีวิตของตน ไม่มีกรอบหรือพื้นที่จำกัดที่ปิดกั้นอิสรภาพ การเลือกที่จะมีสัมพันธ์กับคนอื่นจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกับการอยู่กับคู่ชีวิตของตนหรือไม่
4. บรรเทาความเจ็บปวด
ความเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ปมประเด็นในวัยเด็ก การเลี้ยงดู การถูกละเลย ทอดทิ้งด้านจิตใจ หรือไม่ได้รับอนุญาตด้านการแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเปิดเผย การต้องเก็บอารมณ์รู้สึกเจ็บปวดไว้ตลอดเวลาย่อมต้องการทางออก และการมีสัมพันธ์กับคนอื่นเป็นการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดด้านอารมณ์และจิตใจ การนอกใจเป็นการได้เปิดเผยความอารมณ์ความรู้สึกข้างในออกมา
ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม การนอกใจสร้างความเจ็บปวดและทิ้งบาดแผลทางใจให้กับชีวิตคู่ที่ร่วมสร้างกันมา
การนอกใจอาจเป็นผลกระทบมากจากหลายๆเหตุผลที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจมาเนิ่นนานและยังไม่ได้รับการรักษาหรือได้รับการเยียวยาให้หายดีจึงเกิดการนำทางชีวิตไปในทางที่ผิดวิธีและลงเอยด้วยการนอกใจ
ถึงแม้ในชีวิตคู่ที่มีความสุขแต่ปัญหาการนอกใจยังเกิดขึ้นอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม การแก้ไขพฤติกรรมนอกใจนั้นสามารถแก้ไขได้หากคนที่นอกใจต้องการแก้ไขและปรับปรุงอย่างจริงจัง การรักษาบาดแผลทางใจในอดีตเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยป้องกันการนอกใจในระยะยาว
ใช้ชีวิตคู่อย่างไรหลังเหตุการณ์นอกใจ?
ปัญหาการนอกใจสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ การซ่อมแซมความสัมพันธ์ชีวิตคู่นั้นมีความเป็นไปได้หากทั้งคู่ต้องการเก็บความสัมพันธ์นี้ไว้ เมื่อประเมินสถานการณ์แล้วว่ายังสามารถแก้ไขและไปต่อกันได้
การแก้ไขจัดการสัมพันธภาพปัญหาความนอกใจอาจต้องใช้เวลาและความเข้าใจในการแก้ไขปรับปรุงสัมพันธภาพอย่างจริงจังของทั้งคู่
ในการซ่อมแซมจิตใจและบ่อยครั้งนำมาซึ่งความหนักใจ และอารมณ์โกรธ แต่การแก้ไขปรับปรุงต้องอาศัยระยะเวลา ความอดทน และความร่วมมือของทั้งคู่ อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ชีวิตคู่หลังพฤติกรรมการนอกใจไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการแยกทางกันเสมอไป หากทั้งคู่ต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ และต้องการแก้พฤติกรรมนี้ด้วยการลงมือปฎิบัติอย่างจริงจังเพื่อปรับปรุงสัมพันธภาพชีวิตคู่ให้กลับมาดีขึ้นกว่าเดิม
12 วิธีรักษาสัมพันธภาพหลังเกิดการนอกใจ
1. เช็คความรู้สึกตัวเอง
หากเรารู้สึกเสียใจกับพฤติกรรมการนอกใจ ทำให้อีกฝ่ายเสียใจ ถึงเวลาที่ต้องลงมือแก้ไขพฤติกรรมนี้อย่างจริงจัง และสร้างสัมพันธภาพชีวิตคู่ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม หากคิดจะทำพฤติกรรมนอกใจต่อควรบอกความจริงเพื่อหาทางออก
2. หยุดพฤติกรรมนอกใจ
ควรให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่นอกใจอีกและควรหยุดพฤติกรรมการนอกใจอย่างจริงจัง ซึ่งในกระบวนการอาจมีความยากลำบากในการตัดความสัมพันธ์กับบุคคลที่สาม ทั้งนี้การหยุดพฤติกรรมนอกใจเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อการรักษาความสัมพันธ์ชีวิตคู่ที่มั่นคง
หากการนอกใจเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงานซึ่งต้องเจอกันทุกวัน ควรพูดตรงๆ หรือแสดงออกอย่างชัดเจนว่าสัมพันธภาพแบบที่เป็นอยู่นี้ควรต้องสิ้นสุดลง
3. รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามไม่ควรโทษความสัมพันธ์ของชีวิตคู่ และควรขอโทษคู่ชีวิตในพฤติกรรมนอกใจของตนเองและรับผิดชอบในการสร้างสัมพันธภาพครั้งใหม่ และพัฒนาความไว้ใจให้เกิดขึ้นใหม่
4. ร่วมกันตัดสินใจ
หากทั้งคู่ต้องการรักษาสัมพันธภาพนี้ไว้ ควรมองที่เป้าหมายอนาคตข้างหน้าร่วมกันเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีครั้งใหม่ให้เกิดขึ้น อาจต้องใช้เวลาในการก้าวไปข้างหน้ากับการสร้างความสัมพันธ์ ควรมีเป้าหมายร่วมกันและไม่ควรจมกับอดีต หากอีกฝ่ายต้องการจบความสัมพันธ์และไม่ขอไปต่อก็ควรเคารพการตัดสินใจขออีกฝ่าย หรือหากอีกฝ่ายต้องการเวลาในการตัดสินใจก็ควรให้พื้นที่และเวลาเช่นกัน
5. ซื่อสัตย์และพูดความจริง
ซื่อสัตย์และโปร่งใสในทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องที่เคยโกหก เพื่อสร้างสัมพันธภาพครั้งใหม่ ความเชื่อใจครั้งใหม่ให้เกิดขึ้น ความซื่อสัตย์และการพูดความจริงจะช่วยลดความขัดแย้งลงได้ ที่สำคัญคือทั้งคู่ต้องพูดความจริงในเรื่องความคาดหวังในความสัมพันธ์ร่วมกันในอนาคตเพื่อมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน
6. รักษาคำพูด
เมื่อรับปากแล้วควรทำให้ได้ตามที่พูดและรักษาคำพูดอย่างมั่นคง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นใหม่ และต้องไม่ผิดสัญญาเด็ดขาด
7. เปิดเผยและอดทน
ควรให้อีกฝ่ายได้รับรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน กับใคร และทำอะไรอยู่ ห้ามปิดปังหรือซ่อนเร้นใดๆ อีก ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับความไว้ใจกลับมาง่ายๆ แต่ควรอดทนและเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นใหม่โดยไม่ต้องคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะให้ความไว้ใจในเวลาอันรวดเร็ว
8. สื่อสารให้เป็น
เหตุผลที่สำคัญในการรักษาชีวิตคู่คือต้องสื่อสารให้เป็นและรับฟังความต้องการของอีกฝ่าย หากการนอกใจเกิดจากการที่ชีวิตคู่นั้นไม่เติมเต็มบางอย่างในชีวิตของตน ควรสื่อสารสิ่งที่ตัวเองต้องการ และรับฟังความต้องการของอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
9. เปิดพื้นที่ให้อีกฝ่าย
หากเกิดอารมณ์โกรธขึ้นเมื่อพูดคุยบางเรื่อง ควรไประงับสติอารมณ์ก่อน เมื่อใจเย็นลงแล้วค่อยกลับมาคุยในเรื่องที่เป็นปัญหาด้วยกันอีกครั้ง
10. ใช้เวลาร่วมกัน
เมื่อได้ให้เวลาและพื้นที่ส่วนตัวแล้ว ควรมีเวลาสำหรับที่ใช้ร่วมกันด้วย เช่น ไปเดทกัน หรือออกไปไหนด้วยกันสองคน
11. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
ในการก้าวข้ามอดีตเรื่องการนอกใจ ปัญหาและประเด็นต่างๆ อาจต้องอาศัยการเปิดใจในการเข้าถึงและพูดคุยกันแบบตรงไปตรงมา และบ่อยครั้งอาจต้องพึ่งความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการมองเห็นปัญหาชีวิตคู่
ซึ่งจากสถิติจะพบว่า การได้รับแนวทางจากผู้เชี่ยวชาญสามารถนำชีวิคคู่กลับมาพัฒนาความสัมพันธ์ได้ดีกว่าการไม่รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
12. พร้อมให้อภัย
การให้อภัยอีกฝ่ายจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อเราได้ให้อภัยตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าแบกรับความรู้สึกผิด แต่ควรรับผิดชอบต่อพฤติกรรมนอกใจของตนเอง การสร้างความไว้ใจและสัมพันธภาพครั้งใหม่นั้นเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การให้อภัยก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายเช่นกันต้องใช้เวลาและอาศัยความอดทน
การเยียวยาวบาดแผลทางใจหลังจากเหตุการณ์นอกใจไม่ใช่เรื่องง่าย การมองหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเป็นการทำงานกับการกระบวนการเยี่ยวยาบาดแผลทางใจในระยะยาว
อย่างไรก็ตามอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ถูกกระทำในการให้โอกาสที่สองกับคู่ของตนในการแก้ไขปรับปรุงสัมพันธภาพชีวิตคู่หลังพฤติกรรมนอกใจ ซึ่งจะแตกต่างจากพฤติกรรมที่เป็นการนอกใจแบบต่อเนื่องไม่จบสิ้น หากเป็นเช่นนั้นควรพิจารณาการจบสัมพันธภาพอย่างดีร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตากการเลิกพฤติกรรมนอกใจควรได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ทั้งคู่สามารถเข้าใจถึงปัญหาอย่างท่องแท้และได้รับการแก้ไขไปในเชิงบวกเพื่อพัฒนาด้านความสัมพันธ์ชีวิตคู่ที่ยั่งยืนและมั่นคงมากขึ้น
อ้างอิง
https://www.verywellmind.com/you-cheated-got-caught-now-what-2303090
https://www.marriage.com/advice/relationship/8-common-problems-in-married-life/
https://www.psychologytoday.com/us/blog/love-and-sex-in-the-digital-age/201806/4-reasons-why-infidelity-happens-even-in-happy
https://decisionpointtherapy.com/issues-treated/deciding-leave-stay-infidelity/
https://www.scientificamerican.com/article/why-do-people-in-relationships-cheat/#:~:text=An%20analysis%20revealed%20eight%20key,desire%2C%20and%20situation%20or%20circumstance.
https://www.verywellmind.com/why-married-people-cheat-2300656