EMDR Therapy เตรียมตัวอย่างไรให้ได้ผลเร็วขึ้น?

994 จำนวนผู้เข้าชม  | 

EMDR Therapy เตรียมตัวอย่างไรให้ได้ผลเร็วขึ้น?

 

Marid Kaewchinda, Ph.D.

ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา

นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

นักจิตบำบัด EMDR Psychotherapy/ Brainspotting Psychotherapy

 

 

EMDR Therapy
เตรียมตัวอย่างไรให้ได้ผลเร็วขึ้น?


จิตบำบัด EMDR เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการรักษาบาดแผลทางใจในอดีต และเป็นเทคนิคด้านจิตวิทยาที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์มากกว่า 20 ปีในการรักษาปมบาดแผลทางใจที่เคยเกิดขึ้นและมักถูกเก็บซ่อนไว้ภายใต้ความทรงจำที่ลึกสุดของระบบสมอง

EMDR เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สมองลดการถูกทำลายจากอาการเครียดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์หรือประสบการณ์อันเลวร้าย
 


ปมบาดแผลทางใจจากเหตุการณ์อันเลวร้ายรุนแรงทำให้เกิดภาวะของโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) และหากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลอย่างไรต่อสมอง?

PTSD และปมบาดแผลทางใจหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาจะส่งผลต่อระบบประสาทและความคิด ความทรงจำอันเลวร้ายจะกลับมารบกวนการทำงานของสมองบ่อยๆ ส่งผลกระทบด้านลบต่ออารมณ์ และเกิดความคิดด้านลบ มีทัศนคติการมองโลกแย่ลง

ทำให้สุขภาพจิตและอารมณ์ไม่ปกติ ปมบาดแผลทางใจยังส่งผลกระทบด้านลบทางกายและมักจะกลับมาในรูปแบบของ Flashback ภาพเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตย้อนกลับมาให้เห็นเสมือนว่ากำลังเกิดขึ้นจริงอีกครั้ง เป็นความทรงจำอันเลวร้ายที่คอยตามหลอกหลอน อาจมีอาการฝันร้าย ส่งผลต่อปัญหาการนอนหลับ อาจเกิดภาพลวงตาภาพหลอน  เกิดภาวะ Panic attack มีความรู้สึกสะพรึงกลัว ใจเต้นแรง ปวดหัว เหงื่อแตก กล้ามเนื้อเกร็ง หายใจไม่ทัน ตื่นตระหนกหวาดระแวง

ทำให้บางครั้งเป็น Phobia กลัวบางสิ่งบางอย่าง เก็บตัวไม่อยากเจอใคร หลีกหนีผู้คนหรือสถานที่ที่ทำให้นึกถึงสิ่งเลวร้ายเหล่านั้น รู้สึกหมดหวัง โกรธ โทษตัวเอง มีความคิดอยากฆ่าตาย ใช้สารเสพติด ดื่มสุราเป็นประจำเพื่อให้ลืมความเจ็บปวดเหล่านั้น ไม่สนใจดูแลเอาใจใส่ตัวเองและคนรอบข้างหรือคนในครอบครัว ไม่ทำงาน ไม่มีความรับผิดชอบ และอาจมีปัญหาทางจิตด้านอื่นๆตามมา

 


Credit picture: Themindcoach.org

 

การที่ไม่ได้รับการรักษาปมบาดแผลทางใจ หรือโรค PTSD ส่งผลต่อการที่สมองจะถูกทำลายขั้นรุนแรงจนเกิดเป็นภาวะด้านจิตใจที่ไม่ปกติต่างๆ จะส่งผลกระทบด้านลบและเป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว

EMDR Therapy ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ป่วยด้านจิตใจที่มีภาวะ PTSD ปมบาดแผลทางใจจากเหตุการณ์อันเลวร้ายรุนแรงให้หายเป็นปกติและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยปราศจากความกลัว วิตกกังวล หรือเครียดกับความทรงจำอันเลวร้ายที่คอยตามหลอกหลอนจากอดีตอีก

EMDR Therapy ช่วยให้สมองมีการจัดการกับประสบการณ์ด้านลบได้ดีขึ้น ทำให้สมองมีการจัดเก็บข้อมูลใหม่อย่างสมบรูณ์ หลังจากได้รับการบำบัดด้วยจิตบำบัดอีเอ็มดีอาร์แล้ว ภาวะความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ Phobias หรือ Panic attacks จะลดลงอย่างต่อเนื่อง สมองจะเริ่มมีการฟื้นฟูตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ

 



อย่างไรก็ตามความสำเร็จของผู้รับบริการด้านจิตบำบัดEMDR จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับต้วผู้มารับบริการเอง แต่ละคนใช้เวลาเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการทำจิตบำบัด EMDRไม่เท่ากัน

การประเมินความพร้อมนั้นต้องทำอย่างรอบคอบและพิจรณาในหลายด้าน การเร่งรัดหรือรีบเร่งเข้าสู่กระบวนการเมื่อยังไม่พร้อมหรือมีการเตรียมตัวที่ไม่ดีพอจะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

การเข้ารับการบำบัดด้านจิตใจด้วย EMDR therapy ผู้มารับบริการต้องพร้อมเปิดใจในการยอมรับว่ามีความเจ็บปวดที่เคยเกิดขึ้นในอดีตแต่มันยังซ่อนอยู่ในความทรงจำและคอยรบกวนจิตใจและการใช้ชีวิต

บางครั้งความทรงจำอันเลวร้ายเหล่านั้นเกิดขึ้นมานานมากจนเราไม่สามารถจำรายละเอียดได้ กลไกของสมองพยายามซ่อนและตัดขาดว่าเคยมีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นทำให้เกิดเป็นความสับสนและไม่ยอมเปิดใจยอมรับความจริง การไม่เชื่อมโยงกันหรือที่เรียกว่า dissociative เป็นภาวะที่ความทรงจำไม่ปะติดปะต่อซึ่งโดยทั่วไปคือภาวะ memory loss หรือความทรงจำบางช่วงหายไป ดังนั้นการเปิดใจที่จะทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอย่างไว้ใจเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ช่วยแก้ไขปัญหาและรักษาอาการที่เป็นปัญหาและรบกวนจิตใจจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

 

การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด การยอมเปิดใจและยอมรับว่ามีความเจ็บปวดเกิดขึ้นในใจที่อยากได้รับการช่วยเหลือให้เป็นปกติจึงต้องได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ที่ต้องการเข้าทำจิตบำบัด EMDR

หลายครั้งที่ปมบาดแผลทางใจส่งผลต่อบุคลิกภาพที่บกพร่อง และอาจมีต้นตอมาจากปมบาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Early childhood trauma และ early childhood adverse experience) การมีชีวิตรอดและเติบโตมาได้ไม่ได้บอกว่าปมปัญหาที่มองไม่เห็นนั้นไม่มีอยู่จริง ในทางกลับกันประสบการณ์ความทรงจำอันเลวร้ายนั้นยังคงอยู่ บางครั้งเราอาจจะจำไม่ได้ชัดเจนหรือสมองของเราพยายามที่จะซ่อนและลบเลือนมันออกไป ก็เพราะนั่นเป็นกลไกการป้องกันความเจ็บปวดของสมอง

ทุกปมบาดแผลทางใจและความเจ็บปวดมักมีสาเหตุและที่มา ดังนั้นการมาพบนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำจิตบำบัด EMDR เราควรต้องพร้อมเปิดใจในการทำงานกับความทรงจำอันเลวร้ายที่ทำให้เราเจ็บปวดนั้นอีกครั้งโดยมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านจิตบำบัด EMDR จะคอยดูแลและชี้แนะการแก้ไขรักษาอาการที่ถูกต้อง  เป็นเรื่องยากหากเราไม่ยอมรับหรือเปิดใจก็อาจทำให้การรักษาด้วยจิตบำบัด EMDR ล่าช้าลงได้


 

ดังนั้นในขั้นเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่กระบวกการบำบัดด้วย EMDR จึงเป็นขั้นเตรียมตัวที่สำคัญมาก ผู้เชี่ยวชาญต้องการมั่นใจว่าเราสามารถรับมือกับความทรงจำอันเลวร้ายเหล่านั้นได้เมื่อมันย้อนกลับมารบกวนจิตใตเราอีก

ผู้เชี่ยวชาญจะฝึกให้เรามีทักษะในการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดจากปมบาดแผลทางใจที่ส่งผลแสดงออกทางกายต่างๆ ด้วยการเสริมเทคนิคด้านจิตบำบัด EMDR และหลักการฝึกให้ใจสงบในแบบต่างๆ และช่วยให้เราสามารถนำเทคนิคและวิธีการด้านจิตบำบัดEMDRไปใช้รับมือกับความทรงจำอันเจ็บปวดได้ด้วยตัวเองหลังจบ session

และขณะอยู่ใน session นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัด EMDR ที่ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีจะพยายามช่วยให้การทำงานด้านสมองของเรากลับมาสู่ระบบการทำงานด้านประสาทและความทรงจำที่ไม่ติดขัดเหมือนที่เป็นอยู่

ช่วยสอนเทคนิคที่ทำให้การทำงานของระบบในสมองของเราได้มีการไหลโฟลด้วยการกระตุ้นการทำงานของสมองสองด้านเพื่อให้ความทรงจำที่เป็นด้านลบที่ถูกแช่งแข็งได้หลุดออกไป และสมองเกิดการจัดเก็บประมวลผลใหม่ ใส่ประสบการณ์ด้านบวกเข้าไปแทนที่

อาจฟังดูเหมือนง่ายแต่ในขั้นตอนนี้เชื่อหรือไม่ว่าบางคนมีความยากลำบากที่จะกลับไปเชื่อมโยงกับประสบการณ์ด้านบวกในชีวิตที่เคยมีมา บางคนนึกไม่ออกและไม่สามารถที่จะหาประสบการณ์ดีๆ ที่เกิดขึ้นมาในชีวิตตนเองได้เลย

 



ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า ระบบความทรงจำในสมองทำหน้าที่ เก็บข้อมูล รักษาข้อมูลไว้และสามารถเรียกกลับคืนข้อมูลได้เมื่อต้องการในระบบความทรงจำของสมองถูกทำลาย จากความเครียด ความวิตตกกังวลจึงส่งผลกระทบต่อการทำงานด้านความทรงจำทำให้เกิดความจำเสื่อมความทรงจำบางส่วนหายไป และเมื่อเป็นความทรงจำด้านบวกที่หายไปและไม่สามารถเรียกคืนความทรงจำด้านบวกขึ้นมาได้เมื่อต้องการก็จะจำได้แต่ประสบการณ์ด้านที่เป็นลบ 

การเชื่อมโยงของระบบการทำงานด้านความทรงจำของสมองที่ถูกรบกวนด้วยความเครียด ความวิตกังวล บ่อยครั้งนักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญต้องปรับความเข้าใจให้ความรู้ด้วยกระบวนการ Psycho-education ในเบื้องต้นก่อน เพื่อให้ผู้เข้ารับการทำจิตบำบัด EMDR ได้เข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุและผลกระทบจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิต

โดยเฉพาะการให้ความรู้เกี่ยวกับความคิดที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของสมองและเพื่อเป็นการหยุดพฤติกรรมทำร้ายสมองที่มีความเชื่อมโยงมาจากความคิดด้านลบ ความเครียดและความวิตกกังวลที่ได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่องอีกด้วย


อย่างไรก็ตามนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบความทรงจำด้านบวกให้สมองได้ผ่อนคลายและผู้ที่ตัดสินใจจะเริ่มเข้ารับการบำบัดด้านจิตใจด้วยจิตบำบัด EMDR ควรนำไปปฎิบัติมีดังนี้ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง ดูภาพถ่ายความทรงจำดีๆที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เล่นเกมส์ฝึกสมอง ออกกำลังกายให้ระบบเลือดหมุนเวียนดี ฝึกสมาธิ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่นทำอาหาร เรียนภาษาต่างประเทศ ทำกิจกรรมเพื่อให้จิตใจผ่อนคลายและสมองได้ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ

 

อย่างไรก็ตามนอกจากการมาพบผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาในการทำบำบัดจิตใจด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและทรงพลังอย่าง EMDR Therapy แล้วสิ่งที่ผู้เข้ารับการบำบัดควรตระหนักรู้และเตรียมพร้อมคือการดูแลตัวเองเพื่อทำให้การบำบัดด้วยจิตบำบัด EMDR ได้ผลไวและมีประสิทธิภาพสูงสุด 



ผู้เข้ารับการบำบัดด้านจิตบำบัด EMDR ควรนำแนวทางดังต่อไปนี้ไปปฎิบัติเพื่อช่วยให้สมองทำงานดีขึ้น

 

4 วิธีดูแลจิตใจตัวเองเพื่อช่วยให้การทำจิตบำบัด EMDR ได้ผลไวขึ้น

1.  หาคนคอย support ด้านจิตใจ

หากเกิดสภาวะเศร้าเสียใจ หรือเครียดเราสามารถคุยกับใครบางคนได้แต่หากไม่มีให้จดบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่างๆ เหล่านั้นลงในกระดาษแล้วนำกลับมาปรึกษานักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญใน session การทำจิตบำบัด

2.  ออกกำลังกายเป็นประจำ

เข้าร่วมกิจกรรมคลายเครียด หรือเคลื่อนไหวร่างกาย อาจเป็นการเดิน เล่นโยคะ หรือเต้นรำเพื่อช่วยระบบการทำงานของสมองให้ทำงานดีขึ้น

3.  ฝึกสมาธิ

ฝึกการกำหนดลมหายใจเข้าออก ทุกวันอย่างน้อยวันละ 10 นาที การฝึกสมาธิและการฝึกลมหายใจช่วยให้การทำงานของระบบประสาทเชื่อมโยงกันกับการทำงานของสมองได้ดียิ่งขึ้น

4.  เริ่มเขียนชื่นชมสิ่งรอบตัว

ให้มองทุกอย่างรอบตัวอย่างชื่นชม รู้สึกขอบคุณกับสิ่งเล็กๆในทุกๆวัน และนำกลับมาพูดคุยกับนักจิตวิทยา เป็นการสร้างทัศนคติที่ดีและเป็นพื้นฐานในการดูแลจิตใจของตนเองมากขึ้น

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะทำบำบัดจิตใจด้วย EMDR Therapy หรือไม่ก็ตามการดูแลด้านจิตใจและร่างกายของตนเองให้มีสุขภาวะที่ดีอยู่เสมอนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การออกกำลังกายเป็นประจำและฝึกทำสมาธิให้จิตใจได้สงบอยู่เสมอเป็นการช่วยให้ระบบการทำงานของสมองทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะด้านความฉลาดทางอารมณ์ทีสมองส่วนหน้าทำที่ควบคุมการทำงานนี้อยู่

 

 

 
อ้างอิง


https://www.psychologytools.com/resource/strategies-for-people-with-memory-problems/

https://blackbearrehab.com/mental-health/ptsd/putting-your-family-at-risk-because-of-untreated-ptsd/

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8717031

 

https://northbridgecommunities.com/blog-post/memory-care-5-ways-to-trigger-positive-memories

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้