16 จำนวนผู้เข้าชม |
จิตบำบัดแบบ EMDR สำหรับแก้ไขปมบาดแผลทางใจ
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
EMDR Psychotherapy Supervisor and Brainspotting Psychotherapy Practictioner
EMDR คืออะไร และทำงานอย่างไร?
Eye Movement Desensitization and Reprocessing (EMDR) เป็นจิตบำบัดที่สามารถเยียวยาปมบาดแผลทางใจ หรือประสบการณ์ความเครียดอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบำบัดเยียวยาใจในผู้ที่มีภาวะเครียดรุนแรงหลังประสบเหตุการณ์อันเลวร้าย หรือ Post-traumatic Stress Disorder (PTSD)
จิตบำบัดแบบ EMDR ทำงานอย่างไร?
1. จิตบำบัดแบบ EMDR ใช้วิธีการกระตุ้นสมอง (Bilateral stimulation)
ผู้เข้าบำบัดจะได้โฟกัสกับการทำงานของสมองผ่านการเคลื่อนไหวสายตาไปมา รวมทั้งได้ยินเสียงที่ใช้ในกระบวนการบำบัดในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทำงานกับกระบวนการนำความทรงจำกลับมาแก้ไข เทคนิคการบำบัดด้านจิตใจด้วยจิตบำบัดแบบ EMDR เป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ในปัจจุบันซึ่งมีการแนะนำให้ปฎิบัติรักษาและใช้งานจริงในคลินิคอย่างเป็นทางการ
2. จิตบำบัดแบบ EMDR ใช้เทคนิคให้สมองรับรู้เพื่อประมวลผล
EMDR ช่วยให้โฟกัสไปที่ประสาทสัมผัส รวมทั้งผลกระทบด้านอารมณ์จากเหตุการณ์อันเลวร้ายที่มากระตุ้นให้เกิดภาวะด้านอารมณ์ลบในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถูกเก็บซ่อนอยู่ในความทรงจำ เทคนิคนี้ช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดนำความทรงจำที่ถูกเก็บซ่อนไว้ในความทรงจำออกมาจัดการ
3. จิตบำบัดแบบ EMDR มุ่งเน้นการฟื้นฟูจิตใจด้วยธรรมชาติของสมอง
เมื่อผู้เข้าบำบัดได้เริ่มเปิดประเด็นความทรงจำอันเลวร้าย และนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดโดยมีผู้เชี่ยวชาญด้าน EMDR คอยแนะนำและให้การดูแลจนเสร็จกระบวนการ ก็สามารถทำให้กระบวนการฟื้นฟูระบบสมอง การเก็บข้อมูล ความทรงจำ การประมวลผลได้เริ่มทำงาน สมองจะได้รับการเยียวยาฟื้นฟูและลดระดับความเครียดลงอย่างเป็นธรรมชาติ และผู้รับบำบัดจะค่อยๆ ดีขึ้นเห็นการเปลี่ยนแปลงและไม่รู้สึกเครียด กดดันอีกต่อไป รวมทั้งการฟื้นฟูด้านจิตใจที่เกิดจากความทรงจำอันเลวร้ายซึ่งจะไม่สามารถทำให้จิตใจอ่อนไหวต่อการถูกกระตุ้นได้ง่ายอีกต่อไป
ทำไมการรักษา Trauma ด้วย EMDR จึงได้ผลดีกว่าวิธีอื่น?
1. จิตบำบัดแบบ EMDR เข้าจัดการกับความทรงจำที่เป็นปัญหาตรงจุดกว่า
จิตบำบัดแบบ EMDR จัดการกับความทรงจำที่ไม่พึงประสงค์ได้ตรงจุดโดยเข้าทำงานตรงกับสมองส่วนกลางที่จัดเก็บความทรงจำอย่างไม่สมบรูณ์จึงทำให้สมองถูกรบกวนอยู่เสมอ EMDR เปลี่ยนวิธีการจัดเก็บความทรงจำและประมวลผลใหม่ทำให้ความทรงจำที่ถูกนำขี้นมาแก้ไขแล้วไม่สามารถมารบกวนจิตใจได้อีกต่อไป
2. จิตบำบัดแบบ EMDR มีเทคนิคที่ช่วยจัดการด้านอารมณ์ได้ชัดเจนกว่า
จิตบำบัดแบบ EMDR ช่วยให้ผู้รับบำบัดเกิดกระบวนการเข้าใจในบาดแผลที่มีและกลับไปแก้ไขจัดการรากเหง้าของปมบาดแผลนั้นได้อย่างถูกวิธี มีการเรียนรู้เทคนิคเครื่องมือที่ช่วยจัดการและรับมือกับอารมณ์ที่แปรปรวนที่จะพลั่งพลูเข้ามา รวมทั้งเทคนิค EMDR ช่วยประสานการทำงานด้านจิตใจและร่างกายเข้าด้วยกันทำให้หลังจบการบำบัดผู้เข้ารับบำบัดจะดีขึ้นโดยรวมทั้งสามด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ อย่างสมบรูณ์
3. จิตบำบัดแบบ EMDR ไม่จำเป็นต้องพูดเยอะ
จิตบำบัดแบบ EMDR มีจุดประสงค์หลักคือมุ่งเป้าไปที่การจัดการกับการทำงานของสมองให้กลับมาเป็นปกติ มีการกระตุ้นสมองทั้งสองซีกไปพร้อมๆ กับการทำงานของสมองตามประสบการณ์ภายในที่เกิดขึ้นกับผู้รับการบำบัด ให้กระบวนการเยี่ยวยาด้านจิตใจได้เข้าสู่การฟื้นฟูอย่างเป็นธรรมชาติ หลังจากปมบาดแผลทางใจหรือประสบการณ์อันเลวร้ายที่ถูกเก็บซ่อนอยู่ในความทรงจำมาอย่างยาวนาน ส่งผลต่ออาการภาวะความเจ็บป่วยต่างๆ ของร่างกาย
EMDR therapy ไม่จำเป็นต้องพูดหรืออธิบายเหตุการณ์ความทรงจำอันเลวร้ายมากมาย ซึ่งเป็นผลดีกับผู้เข้ารับบำบัดที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร หรือไม่สามารถจำรายละเอียดของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์นั้นได้ EMDR ช่วยปลดล็อคความทรงจำอันเลวร้ายด้วยการโฟกัสที่การทำงานของสมองมากกว่าการให้รายละเอียดของเหตุการณ์
ดังนั้นควรทำความเข้าใจกับการทำงานของจิตบำบัดแบบ EMDR ก่อนเริ่มกระบวนการ
3 กุญแจสำคัญก่อนเริ่มกระบวนการบำบัดด้วย EMDR therapy มีดังนี้
1. จิตบำบัดแบบ EMDR เป็นเทคนิคจิตบำบัดที่ทำงานกับสมอง
การทำจิตบำบัดแบบ EMDR เป็นการเชื่อมโยงการทำงานของสมองเพื่อให้ความทรงจำอันเลวร้าย (Trauma) ได้เกิดกระบวนการแก้ไขฟื้นฟู แม้ความทรงจำเหล่านั้นจะจัดเก็บในสมองแบบไม่สมบรูณ์ก็ตาม
2. จิตบำบัดแบบ EMDR เน้นประสาทสัมผัสและการรับรู้
การทำบำบัดด้วย EMDR เน้นการเข้าถึงประสาทสัมผัสต่างๆ ที่ส่งผลต่ออารมณ์เมื่อนำปมบาดแผลทางใจกลับมาแก้ไข เป็นการโฟกัสการจัดการกับปม trauma ในแต่ละคน
3. จิตบำบัดแบบ EMDR จำกัดการพูด
ถึงแม้การพูดจะมีความจำเป็นในการสื่อสาร แต่การทำจิตบำบัดแบบ EMDR การพูดใช้เป็นเพียงการชี้ระบุความทรงจำ หรือประสบการณ์ภายในของผู้รับการบำบัดเท่านั้น ระหว่างกระบวนการทำบำบัดEMDRขั้นตอนหลักที่สำคัญจะเน้นไปที่การทำงานกับความทรงจำที่ส่งผลต่อประสบการณ์ภายในของผู้รับการบำบัดและการกระตุ้นสมองสองด้าน เพื่อให้เกิดการทำงานฟื้นฟูจิตใจ และในขณะทำการบำบัดแบบ EMDR ผู้รับการบำบัดยังได้รับรู้ถึงประสาทสัมผัสทางด้านร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก และความคิดต่อตัวเองที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อการรับรู้ผ่านทางร่างกาย
จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของการบำบัดด้วยEMDR มีหลายด้านและสามารถช่วยจัดการกับปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆให้ดีขึ้นได้ เช่น ปมบาดแผลทางใจ (Trauma) โรควิตกกังวล (Anxiety) โรคซึมเศร้า (depression) โรคขาดความมั่นใจ (Self-esteem) ปัญหาสัมพันธภาพ (Relationships) หรือโรคหวาดกลัวบางอย่าง (Phobias) จิตบำบัดEMDR มีเทคนิควิธีแบบเป็นขั้นตอนในการรักษาและช่วยแก้ไขกระบวนการทางความคิดและความทรงจำเพื่อให้ผู้รับบำบัดสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขได้ต่อไป
อ้างอิง
https://www.apa.org/topics/psychotherapy/emdr-therapy-ptsd
https://www.ptsd.va.gov/understand_tx/emdr.asp
https://my.clevelandclinic.org/health/treatments/22641-emdr-therapy
https://theemdrsupervisor.com/when-should-we-talk-during-emdr-processing/