9519 จำนวนผู้เข้าชม |
Mental Health คืออะไร?
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D)
Dr. Marid Kaewchinda
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
นักจิตบำบัด EMDR Psychotherapy/ Brainspotting Psychotherapy Practitioner
Mental Health คืออะไร?
Mental Health คือ สุขภาพจิต เป็นสุขภาวะที่เกี่ยวโยงกับเราทั้งทางอารมณ์และจิตใจ ที่ส่งผลต่อการสร้างและรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับผู้คนรอบข้าง
ถ้าเรามีสุขภาพจิตที่ดีเราจะรู้สึกมีความสุข มีความมั่นใจ มีความหวัง มีความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ และทำให้เราอยากผูกสัมพันธ์กับผู้อื่นในการสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคม การมีสุขภาพจิตดีเราจะมีความสงบภายในและสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย
ทำไมสุขภาพจิตถึงสำคัญกับเรา?
สุขภาพจิตใจมีความสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย เนื่องด้วยจิตและกายทำงานสัมพันธ์กัน เราไม่สามารถแยกจิตใจและร่างกายออกจากกันได้ หากสุขภาพจิตเราแย่หรือไม่ดี มันจะส่งผลและแสดงออกทำให้สุขภาพทางกายแย่ไปด้วย
สุขภาพจิตที่ดีช่วยเราได้อย่างไร?
การมีสุขภาพจิตดีช่วยให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ช่วยให้เรามีความสุขุม ใจเย็น ควบคุม และสงบสติอารมณ์ได้ เมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่พอใจ และสามารถจัดการกับภาวะภายในจิตใจได้เมื่อเกิดการสูญเสีย สามารถแก้วิกฤติจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่คาดคิดในชีวิตได้ สุขภาพจิตดีช่วยให้เราสามารถรับมือกับความกลัว และความไม่แน่นอนของชีวิตได้ สุขภาพจิตดีทำให้เราสามารถรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นได้ เรียนรู้ และทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นได้
อย่างไรก็ตามการมีสุขภาพจิตดีไม่ได้หมายความว่าเราต้องมีความสุขอยู่ตลอดเวลาทุกวัน เพราะเหตุการณ์ในชีวิตคนเรามีขึ้นมีลง ชีวิตมักเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายทั้งความสุข ความเศร้า การสูญเสีย ความวิตกกังวล สิ่งเหล่านี้มักส่งผลต่อความรู้สึกของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีสุขภาพจิตดีจะช่วยให้เราผ่านพ้นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเหล่านั้นไปได้ และมีความสามารถฟื้นคืนกลับของสภาวะทางจิตใจได้ รวมทั้งยังสามารถช่วยให้เรากลับมาแข็งแกร่งมากขึ้นเมื่อปัญหาผ่านพ้นไปแล้ว แม้ว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่งก็ตาม ซึ่งระยะเวลาในการเยียวยาใจจะยาว หรือสั้นนั้นขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งภายในจิตใจของแต่ละคน
สุขภาพจิตที่ไม่ดีส่งผลอย่างไรต่อการใช้ชีวิตของเรา?
สุขภาพจิตไม่ดีส่งผลต่อความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม และมักส่งผลต่อการทัศนคติการมองโลก และการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม อาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทำให้เกิดความยากลำบากในการทำภารกิจให้สำเร็จในแต่ละวัน อาจนำไปสู่ความไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มีแรงพลังผลักดัน และไม่สามารถพึ่งตัวเองได้
ความเจ็บป่วยทางจิตใจส่งผลเสียต่อการมีสุขภาพจิตดี และอาจมีความเกี่ยวโยงกับหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ความเครียดความวิตกกังวล การถูกทารุณกรรมทางร่างกาย หรือจิตใจ หรือประสบการณ์เหตุการณ์สะเทือนใจ
ความเจ็บป่วยทางจิตสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาวนานหลายปี ความเจ็บป่วยทางจิตบางอย่างที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนานกับบุคคล และยิ่งอยู่ในระดับรุนแรง อีกทั้งไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้
การมีสุขภาพจิตแย่ลง และถูกปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลต่อความเจ็บป่วยเรื้อรังด้านร่างกายตามมา
การไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือการดูแลรักษาอย่างไม่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยบ่อยๆ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทำให้เป็นคนไม่มีประสิทธิภาพ มีพฤติกรรมขาดงานบ่อย อาจนำไปสู่ภาวะตกงาน บางรายหันไปพึ่งยาเสพติด มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ หรือพฤติกรรมทำผิดกฎหมาย การหนีออกจากบ้าน และอาจกลายเป็นคนไร้บ้าน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง และอาจเกิดความคิดสั้นฆ่าตัวตายตามมา
สุขภาพจิตเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการรับมือกับความเครียด รวมถึงการรักษาสัมพันธภาพกับผู้คนที่อยู่ด้วยในสังคม สุขภาพจิตดีสำคัญกับเราทุกช่วงพัฒนาการของชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนเติบโตไปสู่ผู้สูงวัย
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิตในปัจจุบันคือ
1. กว่าครึ่งของประชากรบนโลกใบนี้เคยผ่านประสบการณ์มีภาวะสุขภาพจิตที่มีปัญหา
2. ความเจ็บป่วยด้านจิตใจมีหลายประเภท และมักออกอาการทางกายที่แตกต่างกัน
3. หากรู้สึกเป็นกังวลเรื่องสุขภาวะทางจิตของตัวเอง ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับการรักษาเยียวยาให้กลับมาอยู่ในภาวะที่ดีดังเดิม
ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อย
1. ภาวะวิตกกังวล
ความวิตกกังวลเป็นเรื่องปกติของการดำเนินชีวิต หากความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิต
ซึ่งปัญหาด้านโรควิตกกังวลมักเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ อาการหวาดวิตก (Panic attack) โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) ภาวะปมบาดแผลทางใจ (Post-Traumatic Stress Disorder) และภาวะกลัว หวาดระแวง กลัวการเข้าสังคม กลัวการถูกจ้องมอง หรือการถูกตัดสินจากผู้อื่น การรักษาด้วยการทำจิตบำบัดสามารถช่วยลดอาการต่างๆได้ แต่ในบางกรณีอาจต้องรับประทานยาร่วมด้วย
2. ภาวะอารมณ์บกพร่อง
ภาวะอารมณ์บกพร่องมักมีอาการอารมณ์ไม่คงที่ อารมณ์ขึ้น-ลงผิดปกติ เดี๋ยวมีความสุข เดี๋ยวเปลี่ยนเป็นเศร้า ยากต่อการจัดการอารมณ์ด้วยตนเอง
โรคเกี่ยวกับอารมณ์บกพร่องที่เป็นมากในสังคมคือ ภาวะซึมเศร้า (Depression)
ภาวะอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) และ โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymic Disorder ) อาจมีอาการไม่รุนแรง แต่เรื้อรังยาวนานเป็นปี
3. ภาวะผิดปกติทางจิต (Psychotic Disorders)
ภาวะทางจิตผิดปกติ หากเข้าสู่ขั้นรุนแรง ทำให้เกิดความคิดที่บิดเบือน ไม่สามารถแยกแยะ หรือรับรู้สิ่งที่เป็นจริง
หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจะส่งผลให้เกิดอาการแย่ลง เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว ประสาทสัมผัสผิดเพี้ยน ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง เกิดการตัดขาดจากโลกความเป็นจริง และมีความคิดที่หลงไปในทางผิดปกติ ความคิดแปลกประหลาด และอาจส่งผลอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
โรคทางPsychotic disorder ควรได้รับการรักษาด้วยยาควบคู่กับการทำจิตบำบัด ได้แก่ โรคจิตหลงผิด (Schizophrenia หรือ Delusional Disorder)
สาเหตุของภาวะจิตเภทมีหลากหลายประการ เช่น ระบบการทำงานของสมองผิดปกติ สมองได้รับสารพิษสะสม เจ็บป่วยด้วยโรคทางระบบประสาท(สมอง) ทำให้เห็นภาพหลอน ภาพลวงตา หูแว่วได้
นอกจากนี้การถูกทำร้าย การถูกทารุณกรรมทางร่างกาย และจิตใจจนเกิดเป็นปมบาดแผลทางใจ (Trauma) ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะทางจิตเภทได้
การใช้ยากระตุ้น หรือสารเสพติด แอลกอฮอล์ รวมทั้งอาการถอนยาจากการรักษาโรคทางจิตเภทแบบกะทันหัน ก็มีส่วนทำให้การทำงานของระบบสมองรวนส่งผลต่ออารมณ์ที่แปรปรวนได้เช่นกัน
4. ความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน (Eating Disorders)
ความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน เป็นความเจ็บป่วยที่มาจากจิตใจ ความผิดปกตินี้จากภายนอกดูเหมือนเป็นประเด็นที่เน้นไปที่อาหาร แต่แท้จริงแล้วความผิดปกตินี้เกิดจากปัญหาฝังลึกในใจ เกี่ยวกับการถูกบังคับควบคุมในรูปแบบต่างๆ
5. โรคบุคลิกภาพบกพร่อง (Personality Disorders)
Personality disorders เป็นปัญหาทางด้านสุขภาพจิตผิดปกติ ในเรื่องความคิด พฤติกรรม การดำเนินชีวิต การรักษาควรทำจิตบำบัดเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
ลักษณะที่มักพบเห็นส่วนใหญ่คือ จะมีอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์หงุดหงิด โมโหร้าย ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ อารมณ์ไม่มั่นคง พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
มีบุคลิกภาพชอบบังคับควบคุมคนอื่น มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม หรือเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโรคหลายบุคคลิกภาพที่มักแยกออกจากตัวตนที่เป็นอยู่จริง หรือสร้างตัวตนอื่นๆขึ้นมา
โรคบุคลิกภาพบกพร่องที่มักพบบ่อย เช่น Borderline, Narcissistic, Antisocial, Dissociative เป็นต้น
ถึงแม้ว่าการใช้ชีวิตอยู่กับภาวะทางจิตใจที่ไม่ปกติ หรืออยู่ด้วยเงื่อนไขที่ทำให้ชีวิตต้องเผชิญกับสุขภาพจิตที่ไม่ดี การมองหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) มักให้ผลที่มีประสิทธิภาพ จิตบำบัดเป็นเครื่องมือที่สามารถรักษาเยี่ยวยาจิตใจได้อย่างที่น่าทึ่ง อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจต้องใช้ยาจิตเวชควบคู่กับการทำจิตบำบัดด้วยจึงจะเห็นผล
และสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการรักษาสุขภาพจิตใจให้แข็งแรงและเป็นปกติคือเราไม่ควรละเลยเรื่องการดูแลจิตใจของตัวเองในทุกๆ วัน บทความดีๆ เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง หรือ (Self-care) เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และมีสุขภาพจิตใจที่แข็งแรงได้
นอกจากนี้เราควรศึกษาเทคนิควิธีฝึกปฏิบัติเชิงจิตวิทยาที่เหมาะสมกับเราในการดูแลจิตใจตัวเองให้สงบและผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ การฝึกฝนจิตใจให้สงบ และอยู่กับปัจจุบัน รวมทั้งรู้ทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเราเองอยู่เสมอ
อ้างอิง
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/mental-health-strengthening-our-response
https://www.healthdirect.gov.au/mental illnes
https://www.quebec.ca/en/health/advice-and-prevention/mental-health/learn-about-mental-disorders/mental-disorders/psychotic-disorders-