881 จำนวนผู้เข้าชม |
8 วิธีซ่อมใจเมื่ออกหัก
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
EMDR Psychotherapy Supervisor and Brainspotting Psychotherapy Practictioner
อาการอกหักนั้นสร้างความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเกินจะบรรยายในบางคน แต่อย่างไรก็ตามประสบการณ์อกหักนั้นเราสามารถซ่อมแซมใจให้ดีขึ้นได้ หากเราเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการฟื้นฟูด้านจิตใจ
การเยียวยาจิตใจและซ่อมแซมจิตใจเมื่ออกหักนั้นต้องอาศัยเวลา และให้ความใจดี มีเมตตากับตัวเอง (Self-compassion) เข้าใจตัวเองในวันที่ผิดหวัง ท้อแท้ เสียใจ ล้มเหลว โดยไม่วิพากวิจารณ์ โทษตัวเอง หรือเมินเฉย และละเลยต่อความรู้สึกเจ็บปวดที่เรานั้นกำลังเผชิญอยู่
ทำไมเวลาอกหักเราถึงเจ็บปวดมากมาย?
อาการอกหักเป็นประสบการณ์ชีวิตรูปแบบหนึ่งเหมือนการสูญเสียสิ่งของหรือบุคคลอันเป็นที่รัก และโดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่ออกหักหรือเกิดการสูญเสียก็อยากจะแก้ไขอะไรบางอย่างให้สถานการณ์กลับมาดีเหมือนเดิม แต่การจะแก้ไขหรือเยียวยาใจให้ดีขึ้นได้เราต้องเข้าใจความเจ็บปวดที่มี และมีพื้นที่ให้กับจิตใจในการพักฟื้นรักษาตัวเองจากประสบการณ์นี้ก่อน
เมื่อเราเข้าใจถึงความรู้สึกเจ็บปวดที่มี ความสูญเสีย และขั้นตอนกระบวนการในการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ เราจึงจะสามารถช่วยตัวเองให้พ้นจากความทุกข์ทรมานในสถานการณ์นี้ได้
การเรียนรู้ความแตกต่างในแต่ละระยะขั้นตอนเมื่ออกหัก รวมทั้งเรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ในแต่ละช่วง บวกกับความท้าทายที่ต้องเผชิญในการผ่านพ้นอุปสรรคในแต่ละช่วงเพื่อช่วยให้เราได้หาจุดสมดุลย์และกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ต่อไป
อย่างไรก็ตามในแต่ละคนประสบการณ์และความรู้สึกอาจแตกต่างกันไป และอาจไม่เป็นไปตามลำดับ แต่อย่างน้อยแนวทางดังกล่าวอาจช่วยให้เราได้กลับมาห่วงใยความรู้สึกของตัวเองและตระหนักรู้ภาวะจิตใจของตัวเองได้
5 ระยะของผลกระทบจากอาการอกหักมีอะไรบ้าง?
1. ระยะปฎิเสธ
ในขั้นตอนนี้สมองยังไม่ได้รับการจัดการให้ดำเนินการใดๆ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ปฎิกิริยาในการตอบสนองในทันทีคือปฎิเสธ ซึ่งเป็นกลไกการปกป้องตัวเอง บางคนอาจรับรู้ถึงอาการช็อค ทำอะไรไม่ถูก
2. รูัสึกโกรธ และกล่าวโทษ
เมื่ออาการช็อคเริ่มลดระดับลงมักจะแทนที่ด้วยความโกรธ หงุดหงิด สับสนไม่เข้าใจ และนำสู่การโทษตัวเอง หรือกล่าวโทษอีกฝ่ายในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นกลไกลการแก้ไขจัดการด้านอารมณ์ของมนุษย์เมื่อเกิดการสูญเสีย
3. ยื้อเวลา
ในระยะนี้เราจะรู้สึกว่าต้องการหาคำตอบและวิธีการและมีความปรารถนาที่จะได้กลับมาสานสัมพันธ์กันต่ออีก มีจิตนาการในสัมพันธภาพที่ไปต่อและดีต่อกัน
4. ระยะซึมเศร้าและแยกตัว
ระยะนี้จะเป็นระยะที่กินเวลานานที่สุด เมื่อตระหนักและรับรู้ถึงความเป็นจริงที่ไม่สามารถไปต่อและต้องสูญเสียคนรักจริงๆ สมองจะรับรู้ถึงความเศร้าจนไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ในบางคน และส่วนใหญ่จะแยกตัวออกจากสังคม หรือไม่อยากทำกิจกรรมที่เคยชอบ เริ่มแสดงออกมากขึ้นถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต
5. ยอมรับและฟื้นฟู
อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มตระหนักรู้และอยากแก้ไขสภาพจิตใจให้ดีขึ้น คนเราจะเริ่มดิ้นรนหาหนทางในการหลีกพ้นสภาพความทุกข์ทรมานที่เป็นอยู่
จากนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับและปล่อยวาง เมื่อเกิดการยอมรับว่ามีการสูญเสียเกิดขึ้นโดยธรรมชาติมนุษย์จะเริ่มต้นเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูจิตใจ
การยอมรับทำให้เกิดการปล่อยวางอดีต ทำให้ชีวิตเริ่มก้าวต่อไปข้างหน้าได้ การปล่อยว่างจะเกิดจากการให้อภัยตัวเองและผู้อื่น เมื่อยอมรับ ปล่อยวางและให้อภัยผู้อื่นก็จะทำให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อีกครั้ง
การเยียวยาจิตใจเมื่อเวลาอกหักนั้นต้องอาศัยระยะเวลา และความเมตตาเห็นอกเห็นใจตัวเอง ที่สำคัญอาจต้องอดทนกับความเหงาโดดเดี่ยว
อย่างไรก็ตามไม่ควรกลัวที่จะหาความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนด้านจิตใจจากนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด หรือจากคนในครอบครัว คนที่รักรอบข้าง หรือใช้หลักการเทคนิคในการดูแลจิตใจให้ตัวเอง ฝึกฝนการทำ self care เพื่อให้จิตใจได้ฟื้นคืนสู่สภาวะที่เป็นปกติและกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
8 วิธีเยียวยาใจเมื่ออกหัก
1. ให้เวลาตัวเองกับความเสียใจ
ให้เวลากับความสูญเสียในสัมพันธภาพที่เคยมี เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเศร้า โกรธ หรือ มีอารมณ์สับสนต่างๆ เกิดขึ้น จงเรียนรู้และเข้าใจมันและไม่ควรโทษตัวเอง หรือตัดสินใคร มันเป็นกระบวนการฟื้นฟูทางจิตใจ และไม่ควรรีบเริ่มต้นสัมพันธภาพใหม่กับใครในทันทีหลังอกหัก แต่ควรให้เวลากับความรู้สึกเสียใจของตัวเอง ดูและใส่ใจสภาพจิตใจตัวเองก่อน
2. มองหาคนช่วยสนับสนุนด้านจิตใจ
ควรอยู่กับคนที่คอยให้การสนับสนุนด้านจิตใจ ครอบครัว เพื่อนสนิท หรือมาพบพูดคุยกับนักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด เพื่อได้รับคำแนะนำที่ถูกทาง
3. ฝึกฝนเทคนิคการดูแลตัวเอง
ให้เวลากับตัวเอง หมั่นดูแลตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ให้กำลังใจตัวเองในการออกไปทำกิจกรรมที่ดีต่อจิตใจ
การฝึกฝนเทคนิคการดูแลตัวเอง ควรเสริมด้วยการทำสมาธิ สงบจิตใจ จะช่วยให้เราสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจควบคู่กันได้เป็นอย่างดี
4. หมั่นรักษาสมดุลด้านร่างกายให้แข็งแรง
สร้างนิสัยการกินอยู่ และพักผ่อนให้เป็นปกติ ควรรักษาสุขภาพกายใจให้แข็งแรง รวมทั้งด้านอารมณ์ด้วย ควรหมั่นออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร และน้ำหนัก และควรมีที่ปรึกษาด้านอารมณ์และจิตใจเพื่อได้รับการสนับสนุนด้านสุขภาพใจที่ดีสม่ำเสมอและเป็นปกติ
5. หยุดการติดต่อกับแฟนเก่า
การฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจเมื่อเกิดอาการอกหักนั้นจะไปได้ดีและไวหากให้เวลาและพื้นที่ส่วนตัวกับตัวเอง ควรมีระยะห่างในการติดต่อหากจำเป็น และควรหยุดติดต่อกันในระยะ 3 เดือนแรก เพื่อการฟื้นฟูจิตใจที่เร็วขึ้น
การกลับไปติดต่อกับแฟนเก่าจะเพิ่มความผูกพันกันมากขึ้น ดังนั้นจึงควรจำกัดการติดต่อกันและควรรักษาระยะห่างให้มากที่สุด
6. โฟกัสไปที่เป้าหมายและความฝันของตัวเอง
เปลี่ยนความเศร้า เสียใจเป็นพลังพลักดันให้กับความฝันและเป้าหมายในชีวิต ให้จดจ่อในสิ่งที่ตัวเองต้องการในชีวิต การเติบโตในหน้าที่การงาน ตามหาสิ่งที่ต้องการ ทำตามความฝันเพื่อการเติบโตในอนาคตของตัวเองและมุ่งมั่นลงมือมันอย่างเต็มที่
7. ฝึกเทคนิคสงบใจ
สนับสนุนและให้กำลังตัวเองในการทำสมาธิ ฝึกใจให้สงบ ฝึกฝนการหายใจ เข้า-ออก อยู่กับปัจจุบัน เป็นการเชื่อมโยงกับตัวเองและเป็นการตระหนักรู้ถึงภาวะทางอารมณ์ และหยุดพักจากความกังวลเพื่อผ่อนคลายใจ
8. เตือนตัวเองว่าการฟื้นฟูจิตใจนั้นใช้เวลา
จงอดทน การเยียวยาและฟื้นฟูใจนั้นใช้เวลา พยายามให้แต่ละวันผ่านไปด้วยความรักและความเมตตาต่อตัวเอง เห็นใจตัวเอง เป็นช่วงเวลาการเยียวยาด้านจิตใจและดูแลสภาพจิตใจของตัวเอง ซึ่งระยะเวลาของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระดับความลึกซึ้งในความสัมพันธ์ ทักษะการแก้ไขปัญหาของแต่ละคน และการฟื้นฟูทางจิตใจมักขึ้นอยู่กับพื้นฐานแวดล้อมด้านจิตใจและการสนับสนุนด้านจิตใจจากครอบครัวและคนรอบข้างของแต่ละคน
อย่างไรก็ตามจงเชื่อมั่นในตัวเองและเชื่อมั่นในความรักว่ายังมีความรักที่ดีและงดงามรอเราอยู่เสมอ และควรเปิดใจให้กับความรักครั้งใหม่เมื่อพร้อม และถึงเวลาที่เหมาะสม ให้เรารู้สึกขอบคุณในประสบการณ์ความรักที่เข้ามาเพื่อทำให้เราเติบโต ทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นส่วนสำคัญที่นำพาเราไปถึงเป้าหมายของการเรียนรู้ทักษะชีวิตทำให้เราเติบโตอย่างแข็งแกร่งและกล้าเผชิญกับความท้าทายที่จะเข้ามาในอนาคตข้างหน้าได้เป็นอย่างดีและพัฒนาขึ้น
อ้างอิง
https://www.calm.com/blog/how-to-mend-a-broken-heart
https://psychcentral.com/blog/10-tips-to-mend-a-broken-heart
https://www.mindbodygreen.com/articles/ways-to-get-o