5 วิธีหยุดความเจ็บปวด เมื่อคิดถึงใครบางคนจนแทบจะขาดใจ

2750 จำนวนผู้เข้าชม  | 

5 วิธีหยุดความเจ็บปวด เมื่อคิดถึงใครบางคนจนแทบจะขาดใจ

 

5 วิธีหยุดความเจ็บปวด

เมื่อคิดถึงใครบางคนจนแทบจะขาดใจ

ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา
Marid Kaewchinda (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
นักจิตบำบัด EMDR Psychotherapy/ Brainspotting Psychotherapy



ความรู้สึกคิดถึงนั้นเป็นความเจ็บปวดและรู้สึกทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาจรู้สึกเหมือนบางสิ่งในชีวิตขาดหายไป

ทำไมถึงเกิดความรู้สึกคิดถึง?

ชีวิตคนเรานั้นเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งความไม่แน่นอนด้านความสัมพันธ์ก็ด้วยเช่นกัน  ถึงแม้ว่าสัมพันธภาพจะเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าทุกความสัมพันธ์จะประสบความสำเร็จ หรือ ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นจะคงอยู่แบบนี้ตลอดไป

การพลัดพราก การลาจาก อาจสร้างประสบการณ์ที่เจ็บปวด และส่งผลต่อความคิดถึง เป็นภาวะที่ทุกข์ทรมาน เนื่องจากเรามีความผูกพันธ์และความทรงจำในภาพความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน และที่เคยทำร่วมกัน ในบางความสัมพันธ์ยังมีความหวังว่าเราอาจหวนคืนกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอีก หรือในความเป็นเพื่อน ความรู้สึกสูญเสียหรือ รู้สึกว่าเขาเคยเป็นส่วนสำคัญในชีวิตที่เราเคยแชร์ประสบการณ์ที่ดีร่วมกัน เคยเป็นห่วงเป็นใยกัน เคยมีวันที่ดีร่วมกันเมื่อนึกถึงย้อนไปในอดีตอาจสร้างความเจ็บปวดให้เกิดขึ้นได้

บางครั้งสมองเราอาจเกิดความรู้สึกคิดถึงใครบางคนขึ้นมาอย่างกะทันหัน หรือที่เรียกว่าช่วงเวลา Nostalgic moments เป็นภาวะคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตหรือคิดถึงใครบางคน นั่นอาจเป็นเพราะ สิ่งเหล่านั้นหรือคนคนนั้นได้กลับมาปรากฎให้เห็นและพบเจออีกในปัจจุบัน หรือมีสิ่งกระตุ้นให้นึกถึงคนนั้น หรือเหตุการณ์นั้น

 


ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในชีวิตของคนเราจะมีความคิดถึง หวนคำนึงถึงในบางช่วงเวลาที่ดีในอดีต หรือ ภาวะ Nostalgic moments นั่นเป็นเพราะสมองของคนเราทำงานซับซ้อนกว่าที่เราคิด  การเปลี่ยนแปลงของเคมีในสมองมีส่วนสำคัญต่อความรู้สึกคิดถึงด้วยเช่นกัน เมื่อเราอยู่ในช่วงเวลาแห่งความรักและความสุข สมองหลั่งฮอร์โมนความสุข Oxytocin, Serotonin และ Dopamine ฮอร์โมน ความรัก ความผูกพัน และฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ

ฮอร์โมนเหล่านี้จะหยุดลงเมื่อความสัมพันธ์ได้ถูกทำให้จบลง บางครั้งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ความรักและความโรแมนติกเป็นผลจากการเสพติดสารแห่งความสุข ดังนั้นคนเราจึงเลือกที่จะมีคู่ และอยู่รวมกันในสังคมเพื่อได้รับความสุขจากสารเคมีในสมองที่หลั่งลงมา อย่างไรก็ตามหากการพลัดพรากแยกจาก ส่งผลต่อการหลั่งเคมีในสมอง สารแห่งความสุขไม่ถูกหลั่ง เกิดเป็นความเศร้า และทำให้เกิดความรู้สึกคิดถึง

 


 

ความรู้สึกคิดถึงมักเกิดจากความผูกพันที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งอาจมีหลายสาเหตุดังนี้

 1.  ถูกกระตุ้นจากความทรงจำในอดีต (Triggered Memories)

บางสถานที่ หรือบางสถานการณ์อาจทำให้เราเกิดย้อนคิดถึงเหตุการณ์บางอย่าง หรือประสบการณ์ที่เคยแชร์ร่วมกับใครบางคน

2.  ภาวะทางอารมณ์ (Emotional State)  

บางครั้งหากเรารู้สึก เหงา โดดเดี่ยว เครียด หรือเปราะบาง เราอาจรู้สึกคิดถึง เช่น คิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว คิดถึงเพื่อนๆหรือคนที่ดีกับเราในอดีต คนที่สามารถปลอบโยนให้ความรักกับเราในยามที่เรารู้สึกไม่สบายใจ

3.  ความรู้สึกติดค้างในใจ (Unresolved Feelings)  

บางความรู้สึกที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือมีคำตอบกับประเด็นที่มีปัญหากับอยู่ อย่างเช่นการเลิกรากัน หรือ จบความสัมพันธ์แบบไม่รู้เหตุผลที่มาหรือปัญหาที่แท้จริง ซึ่งมักทำให้หวนคำนึงอยู่ในความคิด ความรู้สึก และยังคงติดค้างอยู่แบบนั้น

4.   คิดถึงอดีต (Nostalgia)

ความคิดถึงบ้าน ครอบครัว คนรัก และอดีตอันแสนหวาน ถึงแม้ว่าบางครั้งอดีตที่ผ่านมาจะไม่ได้สมบรูณ์แบบก็ตาม

5.  ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต (Change or Transition) 

ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น การย้ายถิ่นฐานที่อยู่ ย้ายงาน การจบความสัมพันธ์กับคนรัก แยกย้าย เลิกรากัน และมักเป็นมุมมองที่สะท้อนให้เห็นถึงบางสิ่งกับใครบางคนในอดีตที่เคยมีความสัมพันธ์ด้วย

6.    การจากลาอย่างกระทันหัน (Lack of Closure)  

การต้องจบความสัมพันธ์กับใครบางคนอย่างไม่ทันคาดคิด หรือไม่มีการได้เตรียมตัวได้บอกลา อาจทำให้คนเรามักหวนนึกถึงและความรู้สึกคิดถึงนี้ยังคงวนเวียนกลับมา เพื่ออยากหาคำตอบหรือการแก้ไข

 

บ่อยครั้งความคิดถึงทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด  ทุกข์ทรมาน ความรู้สึกโหยหาอาจทำให้เกิดความรู้สึกเศร้า ว่างเปล่า สูญเสีย สูญสิ้น ซึ่งเป็นประสบการณ์ด้านลบ

ถึงแม้ว่าหลายคนจะเชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปเมื่อคนที่รักจากไป หรือเพื่อนสนิทย้ายไปอยู่ที่อื่น อาจสร้างความสับสนทางอารมณ์ให้เราได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความสัมพันธ์ ระยะเวลาที่อยู่ร่วมกัน และความผูกพันที่ยาวนานแค่ไหนระดับใด

อย่างไรก็ตามความรู้สึกคิดถึงหากเรารับรู้ในมุมมองที่ดี ความทรงจำที่ดี ก็จะช่วยให้เกิดพัฒนาด้านอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจ ค้นพบความหมายของชีวิต และไม่ตัดสินอะไรง่ายๆ แต่หากควบคุมไม่ดีความรู้สึกคิดถึงอดีตอาจนำพาสู่โรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

ดังนั้นความคิดถึง ความรู้สึกห่วงหาอาทรในสิ่งที่เราคุ้นเคย หรือคิดถึงนสิ่งที่ใครบางคนเคยทำให้ หรือการมีประสบการณ์ที่ประทับใจร่วมกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามหากเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะไม่มีแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว และทุกอย่างเป็นอดีตไปแล้ว

แต่เราควรเปลี่ยนมุมมองและเลือกเก็บแต่สิ่งที่ดีๆ ไว้ในความทรงจำ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติใดที่เราจะมีความคิดถึง และความรู้สึกนี้ก็สามารถค่อยๆ ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเราเริ่มปล่อยวาง และเข้าใจว่าจะไม่มีใครคนนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตอีกแล้ว เราสามารถระงับความเจ็บปวดได้ด้วยการเปลี่ยนมุมมองเป็นการชื่นชม ขอบคุณในสิ่งดีที่เคยมีและเคยทำร่วมกัน

 



ถึงแม้ว่าการสูญเสียอาจทำให้เราเกิดความคิดถึงและอาจทำลายความมั่นใจในการใช้ชีวิต ภาพลักษณ์ ทัศนคติในการมองโลกด้านบวกของเราได้ แต่การเปลี่ยนมุมมองและจัดการกับ mindset ให้ตัวเองใหม่ด้วยการมีทักษะในการจัดการกับอารมณ์ความคิดถึงให้ได้ก็จะช่วยให้เรามีพัฒนาการด้านจิตใจที่แข็งแกร่งได้ ด้วยเทคนิคดังต่อไปนี้

5 วิธีหยุดความคิดถึงเพื่อลดความเจ็บปวด

1. จัดการกับ mindset

อาจเป็นเรื่องยากในช่วงเริ่มต้นที่เราจะต้องจัดการกับสิ่งที่หายไปจากชีวิต และต้องยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ แต่เมื่อเราสามารถยอมรับได้ชีวิตจะก้าวต่อไปได้อย่างดี ให้เวลากับตัวเอง หากเรายังคงมีความคิดถึง นั่นเป็นการบอกว่าเรายังคงต้องการเวลา ระดับของความคิดถึงจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป อย่างกดดันตัวเองจนเกินไป ให้ค่อยเป็นค่อยไป

2.  หาตัวช่วย


ให้เวลากับเพื่อนและครอบครัวที่สามารถช่วยสนับสนุนเราในช่วงเวลายากลำบากให้ผ่านพ้นไปให้ได้ ใช้เวลากับคนที่ไว้ใจได้เล่าระบายปัญหาที่มี จะทำให้เรารู้สึกไม่เหงาและไม่โดดเดี่ยวและได้เชื่อมโยงกับคนในสังคมที่เราเชื่อใจ หรือมองหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา พูดคุยปรึกษา ไปพบเรื่อยๆ จนกว่าเราจะรู้สึกดีขึ้น

3.  หาเวลาสนุกให้ตัวเอง และสร้างคอนเนคชั่นใหม่ๆ

หากิจกรรมที่ทำให้ตัวเองมีความสุข หางานอดิเรก หรือกิจกรรมที่ทำแล้วเพลิดเพลิน เป็นการดึงความสนใจให้ออกไปจากความรู้สึกขุ่นมัวที่มีอยู่ การได้เจอผู้คนใหม่ๆ และสร้างสัมพันธภาพใหม่ๆจะช่วยให้หายคิดถึงใครบางคน และหากพร้อมในการเริ่มต้นสัมพันธภาพที่จริงจังกับคนใหม่ควรให้เพื่อนสนินและครอบครัวมีส่วนร่วมในการรับรู้เพื่อเราจะได้ช่วยดูในมุมมองของความคาดหวังของเรา

4.   กลับมาดูแลตัวเอง

หันกลับมาใส่ใจเรื่องการดูสุขภาพ อาหารการกิน การพักผ่อน การทำกิจกรรม นอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์  ให้เวลาผ่อนคลายกับตัวเอง อาจไปนวดผ่อนคลาย หรือ ไปกินข้าวสังสรรคกับเพื่อนฝูง

5.  ฝึกสมาธิทำใจให้สงบ

ฝึกการปฎิบัติสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ คิดบวก พยายามตัดความคิดลบ พยายามเข้าใจและยอมรับความรู้สึกที่มีโดยไม่มีการตัดสินใดๆ

 
อย่างไรก็ตามไม่ควรละเลย หรือ ปกปิดกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น แต่ควรทำความเข้าใจกับความรู้สึกของตัวเองให้มากขึ้น ควรสำรวจและค้นพบให้เกิดความเข้าใจในภาวะอารมณ์ที่มีอยู่ มากกว่าการซ่อนความรู้สึกหรือทำเป็นไม่ใส่ใจ

หากความคิดถึงนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันจนมากเกินไป ควรคุยกับใครสักคนที่ไว้ใจได้ หรือควรมาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเพื่อรับแนวทางการแก้ไขและการสนับสนุนได้อย่างถูกต้อง

 


อ้างอิง

https://thriveworks.com/blog/the-psychology-of-missing-someone-5-ways-to-cope/#:~:text=Changes%20in%20brain%20chemistry%3A%20Scientific,their%20presence%20in%20your%20life.
https://www.verywellmind.com/i-still-miss-someone-why-you-might-feel-this-way
https://www.healthline.com/health/depression/nostalgic-depression

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้