ปกป้องลูกมากจนเกินไปอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาโรคซึมเศร้า

321 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปกป้องลูกมากจนเกินไปอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาโรคซึมเศร้า

ปกป้องลูกมากจนเกินไปอาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาโรคซึมเศร้า


ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
EMDR Psychotherapy Supervisor and Brainspotting Psychotherapy Practictioner


การศึกษาพฤติกรรมการเลี้ยงลูกพบว่าพ่อ-แม่ที่ปกป้องลูกมากเกินไป มีแนวโน้มสร้างความอ่อนแอในเรื่องทักษะการฟื้นฟูจิตใจของลูกเมื่อเจอปัญหา และทำให้ลูกไม่มีพัฒนาการในทักษะการแก้ปัญหาชีวิต

งานวิจัยส่วนใหญ่พบว่าการปกป้องลูกมากจนเกินไปทำให้ลูกมีระดับความเครียดและความวิตกกังวลสูง รวมทั้งอาจนำสู่ภาวะซึมเศร้าง่ายกว่าพ่อ-แม่ที่เลี้ยงดูแบบให้ลูกกล้าเผชิญปัญหา หรือกล้าปล่อยให้ลูกตัดสินแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

 

การเลี้ยงแบบปกป้องและดูแลมากเกินไป (Overprotective parenting style)

เป็นรูปแบบการเลี้ยงดูที่เรียกว่า over-parenting เป็นลักษณะที่พ่อ-แม่เข้าไปเกี่ยวข้องมีบทบาทในชีวิตของลูกทุกๆ เรื่อง เช่น คอยติดตามไม่ห่างเพื่อดูว่าลูกทำอะไร ตัดสินใจเลือกอะไร ถูกต้องไหม คอยปกป้องลูกไม่ให้มีใครสามารถทำร้ายลูกได้ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ให้ลูกเผชิญกับความเจ็บปวด ความทุกข์ใจ ความล้มเหลว เสียใจ หรือความผิดหวังเลย ในระยะยาวจะส่งผลต่อความด้อยพัฒนาทักษะด้านการฟื้นคืนสภาวะจิตใจ (Resilience)

เวลาที่ลูกได้เจออุปสรรคในชีวิตจริงลูกจะต้องคิดและตัดสินใจในการเอาตัวรอดทำให้ได้ฝึกฝนพัฒนาทักษะด้านความเข้มแข็งทางจิตใจอดทนแก้ไขปัญหา หาทางเอาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ให้ได้



หากลูกไม่ได้เผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรค ความผิดพลาดความล้มเหลว หรือเป็นทุกข์เสียใจเรื่องใดเลย อนาคตจะมีภูมิคุ้มกันด้านประสบการณ์ชีวิตต่ำ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาชีวิตได้ มีแนวโน้มไม่พอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ และมีความคาดหวังที่ไม่เป็นจริงจากผู้คนรอบข้าง

หากลูกไม่ได้เรียนรู้ในการตัดสินใจด้วยตัวเอง หรือไม่ได้รับโอกาสในการให้ตัดสินใจ หรือเปิดโอกาสให้ทำผิดพลาดเลย เขาจะขาดการได้เรียนรู้พัฒนาทักษะในการแก้ปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นหากพ่อ-แม่คอยปกป้องลูกมากเกินไปอาจสร้างปัญหาเรื่องความมั่นใจ และการพัฒนาทักษะด้านการฟื้นคืนสภาวะจิตใจของลูกได้

 


พ่อ-แม่บางคนไม่รู้ตัวและไม่ตระหนักถึงการเลี้ยงลูกที่ต้องให้อิสรภาพ และให้เขาพึ่งตัวเองให้ได้เร็วที่สุด แต่กลับเข้าไปวุ่นวายกับชีวิตของลูกมากจนเกินไป ทำให้เวลาเกิดปัญหา จะแก้ไขเองไม่เป็น และอาจไม่มีทักษะการเอาตัวรอด หรือหันไปหาทางออกแบบผิดๆ ได้แก่ เก็บตัวเงียบ ออกห่างสังคม หนีปัญหา พึ่งพายาเสพติด เป็นต้น

การให้ความรักความอบอุ่นและใส่ใจลูกเป็นเรื่องดี แต่หากใช้การเฝ้าดูอย่างชิดใกล้ไม่ให้คลาดสายตา จะส่งผลกระทบด้านความพร้อมและทักษะการใช้ชีวิตของลูกในอนาคต

พ่อ-แม่ที่ปกป้องลูกมากเกินไปทำให้ลูกไม่กล้าตัดสินใจ ขาดทักษะการคิดและการความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระด้วยตัวเอง ส่งผลกระทบเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมและมีผลต่อสุขภาวะทางจิตใจ และอาจนำสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา

 

8 ผลกระทบด้านลบหากเลี้ยงลูกแบบ Overprotective

1. ทำให้ความเชื่อมั่นในตัวเองและมีทักษะการแก้ปัญหาด้อยลง

อาจฟังดูขัดแย้งแต่จากผลสำรวจกลับพบว่าพ่อ-แม่คอยปกป้อง หรือโอ๋มากจนเกินไปเมื่อโตขึ้นลูกกลับขาดทักษะในการฟื้นคืนสภาวะทางจิตใจ (Resilience)

ไม่สามารถจัดการปัญหาหรือภาวะทางจิตใจที่ไม่ปกติได้เมื่อเจอเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เข้ามาในชีวิต

พ่อ-แม่ที่ปกป้องลูกมากเกินไปส่งผลต่อความสามารถของลูกในการลงมือปฎิบัติ คิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ลูกจะรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่มีความสามารถ ไม่กล้าตัดสินใจกลัวทำได้ไม่ดีพอ

2. ลูกมีแนวโน้มเสี่ยงต่อภาวะวิตกกังวล และโรคซึมเศร้า

พ่อ-แม่ที่ปกป้องลูกมากเกินไปมักนำปัญหาด้านสุขภาพจิตมาสู่ลูกโดยไม่ได้ตั้งใจ ลูกมักมีสภาพจิตใจที่ค่อนข้างเปราะบางเมื่อเทียบกับเด็กที่พ่อ-แม่ให้โอกาสในการคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเอง

หากพ่อ-แม่ใส่ความคิดเห็นและความกังวลด้านสังคมที่ไม่ดี ความอันตราย ไม่ปลอดภัย รวมถึงการเลือกและพิจารณาเพื่อนหรือสังคมที่ลูกคบหาด้วย ลูกจะขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง ความเป็นห่วงและกังวลของพ่อ-แม่มักเชื่อมโยงกับภาวะหวาดระแวงสังคมของลูก (Social anxiety)

หากลูกมีความวิตกกังวลในสภาพสังคมที่เป็นอยู่ กังวลว่าอาจเป็นสังคมที่เลวร้าย อาจทำให้ลูกมีความวิตกกังวล และกลัวที่จะออกจาก Comfort zone ทำให้ขาดโอกาสการเรียนรู้ที่จะดูแลหรือปกป้องตัวเองจากภัยรอบตัว และส่วนใหญ่มีความคิดที่จะรอคอยความช่วยเหลือจากพ่อ-แม่ หรือผู้อื่นอยู่เสมอเมื่อต้องเผชิญกับปัญหา

3.  รู้สึกผิดและสับสนในตัวเอง

หากเด็กเติบโตมาด้วยเกราะป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ที่พ่อ-แม่เป็นผู้เตรียมและจัดการให้หมด เด็กจะได้รับผลกระทบคือ

- มีความรู้สึกว่าโลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งเลวร้าย และสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคาม

- มีความเชื่อว่าตัวเองอาจไม่สามารถจัดการปัญหาต่างๆ เองได้ พ่อ-แม่จึงต้องคอยจัดการปัญหาให้

ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ทำให้ลูกโตมาด้วยความไม่มั่นใจและเปราะบาง เมื่อเกิดถูกวิพากวิจารณ์ หรือผลงานไม่ได้รับการยอมรับจะสงสัยในความสามารถของตนเองและระแวงในความสามารถของตนเอง  เมื่อได้รับโอกาสให้คิดและตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง จะรู้สึกกังวล กลัวผิด ไม่กล้าทำ เพราะไม่คุ้นเคยกับการได้อิสระภาพในการตัดสินใจด้วยตัวเองมาก่อน

4 มองหาการยอมรับจากผู้อื่นและพยายามทำตัวเป็นที่โปรดปราณ

เมื่อถูกเลี้ยงดูมาแบบให้เชื่อฟังคำแนะนำของพ่อ-แม่ และพฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้พ่อ-แม่มีความสุข เด็กจะเติบโตมาแบบต้องการการยอมรับจากผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่กล้ายืนหยัดปกป้องสิทธิและความต้องการของตัวเอง ไม่กล้าปฎิเสธ หรือกลัวทำให้คนอื่นผิดหวังไม่มีความสุข กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวคนอื่นไม่รัก เมื่อโตขึ้นจะมีแนวโน้มต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่เสมอ

พ่อ-แม่ที่ปกป้องลูกมากเกินไปมักมีบุคคลิกภาพแบบชี้นำลูกให้เชื่อฟังทำตามจะได้ไม่เกิดสถานการณ์เลวร้าย เป็นการให้ลูกรู้สึกว่าต้องอยู่ใกล้พ่อ-แม่ และพึ่งพาพ่อ-แม่จะได้ปลอดภัย

พ่อ-แม่ไม่ปล่อยให้ลูกไปเผชิญปัญหาหรือตัดสินใจเองเพราะกลัวผิดพลาด เหล่านี้มักสร้างความไม่มั่นคงทางจิตใจ และมักสร้างนิสัยไม่มั่นใจต้องรอการอนุมัติ หรืออนุญาตจากผู้อื่นก่อนการตัดสินใจด้วยตัวเองเสมอ

5. อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงแบบไม่รู้ข้อจำกัดของตัวเอง

หากลูกที่ถูกเลี้ยงดูแบบถนุถนอมปกป้องมากเกินไป มีความกดดันไม่ให้ทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเองเพราะพ่อ-แม่กลัวจะเกิดอันตราย ไม่ให้ลองทำอะไรหรือไปไหนห่างสายตา อาจส่งผลต่อความคิดต่อต้านและ เมื่อได้โอกาสในการลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆนอกบ้านอาจทำแบบสุดโต่ง ไม่รู้ลิมิตตัวเอง เพราะไม่มีความชัดเจนในขอบเขตของความพอดี ขาดทักษะทางการควบคุมความเสี่ยงของตัวเองจึงมักแสดงออกแบบสุดโต่ง

6. แนวโน้มคาดหวังให้ทุกอย่างต้องสมบรูณ์แบบ

พ่อ-แม่ที่ปกป้องลูกมากเกินไปมักมีแนวโน้มที่ต้องการควบคุมผลลัพธ์ และคาดหวังให้ลูกต้องทำทุกอย่างได้ดีสมบรูณ์แบบที่สุด ความพอใจและความยินดีของพ่อ-แม่ มักมีเงื่อนไขแฝงมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ว่าเมื่อลูกทำผลงานได้อย่างสมบรูณ์แบบพ่อ-แม่จะรักหนู

ซึ่งส่งผลทำให้ลูกต้องทำงานออกมาให้เพอร์เฟคอย่างที่พ่อ-แม่ หรือคนอื่นคาดหวังไว้ แต่ไม่ได้ทำออกมาให้ดีที่สุดเพื่อตัวเอง ซึ่งลักษณะบุคคลิกภาพที่สมบรูณ์แบบเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ผิดปกติลักษณะหนึ่ง และมักส่งผลต่อการพัฒนาสัมพันธภาพกับผู้อื่น โดยเฉพาะความวิตกกังวลในความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรักที่ไม่สมบรูณ์แบบ ทั้งในด้านความเชื่อใจ การถูกหักหลัง และความเจ็บปวดในชีวิต ส่งผลให้เชื่อว่าการอยู่กับพ่อ-แม่เท่านั้นจึงจะเป็นความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยที่สุด และไม่ถูกทำร้ายด้านจิตใจอย่างแน่นอน

7. รู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจ มีภาวะพึ่งพิง

สายใยความผูกพันธ์พ่อ-แม่ สร้างทักษะความเข้มแข็งด้านจิตใจให้กับลูกในการไปเผชิญกับความท้าทายในโลกความเป็นจริง อย่างไรก็ตามหากการเลี้ยงดูแบบปกป้องลูกมากเกินไป ส่งผลด้านลบด้านจิตใจ ทำให้เกิดความวิตกกังวล ความไม่มั่นคงในจิตใจ หากลูกไม่ได้รับการสนับสนุนให้ไปเผชิญปัญหาหรือออกไปค้นพบโลกใหม่ภายนอกครอบครัว แต่ต้องผูกติดกับพ่อ-แม่ ตลอดเวลา การสนับสนุนด้านจิตใจ อารมณ์อาจส่งผลกระทบด้านลบ ยิ่งไปกว่านั้นหากพ่อ-แม่ มีทัศนคติ หรืออารมณ์ที่ไม่คงที่แปรปรวน เมื่อโตขึ้นลูกอาจอยากออกห่าง เนื่องจากเกิดการรับรู้ว่าความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพ่อ-แม่ ไม่สมบรูณ์แบบและสร้างความเจ็บปวด ซึ่งสัมพันธภาพลักษณะนี้ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคลนั้น คือเวลาคบใครมักคาดหวังความสมบรูณ์แบบเสมอ ซึ่งในความเป็นมนุษย์ไม่มีใครสมบรูณ์แบบ

8. ผลกระทบด้านตัวตนที่แท้จริง และความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น

เป็นการยากที่ลูกจะเติบโตมาและมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้อื่น หากต้องกังวลกับการได้รับความเห็นชอบจากพ่อ-แม่ ตลอดเวลา ลูกจะตัดความต้องการที่แท้จริงของตัวเองออกไปหรือบางครั้งโกหกเพื่อให้ภาพลักษณ์ที่แสดงออกมาดูดีได้รับความพอใจจากพ่อ-แม่ หรือคนรอบข้าง โดยละเลยความต้องการที่แท้จริง และความสุขของตัวเอง การแสดงออกถึงความเป็นตัวตนและความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองอาจเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้จากพ่อ-แม่ หรือคนที่รักส่งผลให้ไม่กล้าเผยความรู้สึกแท้จริงที่มี และนำสู่ความสัมพันธ์ที่ปกปิด ไม่เปิดเผย ห่างไกล ปลีกตัว ส่งผลต่อความโดดเดี่ยวและขาดคนเข้าใจในที่สุด

อย่างไรก็ตามในฐานะพ่อ-แม่ ควรให้ความใส่ใจและตระหนักถึงสไตล์การเลี้ยงลูก หากเรารับรู้ถึงพฤติกรรมที่คอยจับตา หรือเฝ้าติดตามลูกมากเกินไป ควรลดพฤติกรรมเหล่านั้นลงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบตามมา

หากเราในฐานะลูกได้รับผลกระทบจากการเลี้ยงดูของพ่อ-แม่ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านจิตใจ self-esteem ประสบการณ์การชีวิต ความแข็งแกร่งด้านการฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจ เกิดปมบาดแผลทางใจอาจต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อช่วยบำบัดด้านจิตใจ

 
อ้างอิง

https://positivepsychology.com/unhealthy-coping-mechanisms/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้