Trauma-informed care คืออะไร?

46 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Trauma-informed care คืออะไร?

Trauma-informed care คืออะไร?


ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
EMDR Psychotherapy Supervisor and Brainspotting Psychotherapy Practictioner


Trauma-informed care คือการให้ความรู้ด้านผลกระทบทางจิตใจที่บุคคลเคยประสบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในชีวิตมา

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น เหตุการณ์ที่เคยถูกทำร้ายทางร่างกายหรือจิตใจ การถูกทารุณกรรม ถูกล่วงละเมิด ตกเป็นเหยื่อทั้งในที่เคยเกิดขึ้นในวัยเด็กและปัจจุบัน รวมทั้งประสบการณ์ความยากจนแร้นแค้น ถูกทอดทิ้ง ถูกละเลย ถูกเหยียดหยาม ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว หรือภายนอกครอบครัว หรือประสบการณ์ได้พบเห็นเหตุการณ์ผู้อื่นถูกกระทำ ถูกทำร้ายอย่างรุนแรง และส่งผลให้เกิดปมบาดแผลทางจิตใจ (Trauma)

เป้าหมายของ Trauma informed care ต้องการปกป้องผู้ที่มีปมบาดแผลทางด้านจิตใจไม่ให้เกิดบาดแผลทางจิตใจซ้ำอีก โดยการให้ความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์และผลกระทบที่มีต่อจิตใจ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ให้การสนับสนุนด้านจิตใจ สร้างความเชื่อใจ ความเชื่อมั่น ให้พื้นที่ที่รู้สึกปลอดภัย และได้รับการเยียวยา มีที่พึ่งทางใจที่เข้าใจเห็นใจและคอยช่วยเหลือสนับสนุนคอยให้กำลังใจให้กลับมามีพลังต่อสู้กับชีวิต



กุญแจสำคัญของ Trauma-informed care มีอะไรบ้าง?

1. ความปลอดภัย

ต้องมั่นใจว่าผู้ประสบภัยมีความปลอดภัยจากสิ่งคุกคามทั้งทางร่างกายและจิตใจ ได้รับการสนับสนุนด้านการดูแลและช่วยเหลือด้านจิตใจอย่างมั่นคงปลอดภัย

2. ความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส

เปิดเผยและจริงใจในการสื่อสารเพื่อสร้างความไว้ใจ ต้องอาศัยความจริงใจ สม่ำเสมอและสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าช่วยเหลือ

3. ให้ตัวเลือกและมีการทำงานร่วมกัน

ให้ผู้ประสบภัยได้มีโอกาสเลือกในสิ่งที่ดีกับตัวเองเพื่อสร้างพลังใจในการต่อสู้พลักดันตัวเองและควรมีการทำงานประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ระหว่างกระบวนการเยียวยารักษามีการพูดคุยถึงแผนงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ

4. สร้างพลังใจ

ให้พลังใจด้วยการสร้างการรับรู้ด้านคุณค่าในตัวเอง ส่งเสริมการพึ่งพาตัวเอง

5. คำนึงถึงวัฒนธรรมที่แตกต่าง

ตระหนักถึงความแตกต่างทางภูมิหลัง ครอบครัว วัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละคนด้วยการให้เกียรติและเคารพในความแตกต่าง

6. ตระหนักรู้และเข้าใจถึงผลกระทบ

Trauma- informed care เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปมบาดแผลทางใจ (Trauma) ที่มักส่งผลกระทบระยะยาวด้านร่างกาย อารมณ์ ด้านจิตใจ รวมทั้งครอบครัวและคนใกล้ชิดกับผู้ป่วยด้วย

7. รับรู้ถึงสัญญาณและอาการที่แสดงออก

Trauma-formed care เกี่ยวข้องกับความเข้าใจด้านสัญญาณเตือนการรับรู้ด้านจิตใจ การแสดงออกทางร่างกาย อาการที่แตกต่างกันที่แสดงออกในแต่ละคน

8. รับรู้ถึงความอ่อนไหวของผู้ประสบภัย

ให้ความใส่ใจในการตอบสนองต่อคนที่มีปมบาดแผลทางใจด้วยความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจ และมีสัมผัสที่ไวต่อความรู้สึกที่อ่อนไหวกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ประสบภัย โดยดูจากประวัติที่เคยประสบภัยที่ผ่านมาของผู้ป่วยและควรระมัดระวังตัวกระตุ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจในขณะสื่อสาร

9. ป้องกันไม่ให้กลับไปเกิดปมบาดแผลทางใจนั้นซ้ำอีก

ทักษะในการช่วยป้องกันการเกิดปมบาดแผลทางใจซ้ำอีก คือต้องตระหนักรู้ถึงลักษณะคำถาม ระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษาไม่ให้นำไปสู่การถูกกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดขึ้นมาอีก

 



ทักษะ Trauma-informed care มีประโยชน์อย่างไร?

Trauma-informed care มีประโยชน์มากหลายด้าน ไม่ใช่แค่เป็นประโยชน์กับผู้มารับบริการเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับผู้ให้บริการด้วย การนำทักษะ Trauma-informed care ไปฝึกฝนและปฎิบัติจะช่วยให้เจ้าหน้าที่มีการพัฒนาสัมพันธภาพกับผู้มารับบริการได้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว คนไข้ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านความเชื่อใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ไม่กล้าเปิดใจในการเปิดประเด็นสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา และเพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในการดูแลผู้ป่วยในระยะยาว การฝึกทักษะTrauma-informed care จะช่วยเปิดโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาทักษะด้านการดูแลทางจิตใจให้กับผู้มารับบริการได้อย่างมีเป้าหมาย มีการพัฒนาความสัมพันธ์ความไว้ใจเชื่อใจ และช่วยลดภาวะ burnout ที่มักเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการ รวมทั้งสามารถช่วยลดปัญหาการลาออกของบุคลากรที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตในระยะยาวได้อีกด้วย

 


เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการช่วยเหลือด้านจิตใจสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีทักษะด้าน Trauma-informed care ได้อย่างไร?

ในสถานพยาบาลตามชุมชน คลินิกควรเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาทักษะ Trauma-informed care ด้วยการสร้างหน่วยงาน องกรณ์ของตัวเองให้มีความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยผู้มารับบริการ สร้างบรรยากาศแวดล้อมที่เป็นมิตร ปลอดภัย ใส่ใจดูแลผู้ป่วย เช่นสร้างการรับรู้ตระหนักถึงการช่วยเหลือใส่ใจผู้มารับบริการ รวมทั้งความอ่อนไหวด้านความแตกต่างของแต่ละครอบครัว ควรตระหนักถึงและภูมิหลังของผู้ป่วยแต่ละคน นอกจากนี้ในหน่วยงานและองค์กรก็ควรให้ความสำคัญกับบุคลากร ใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของเจ้าหน้าที่ให้บริการเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน และควรสร้างบรรยากาศสังคมปลอดภัย และให้คุณค่ากับการใส่ใจในเรื่องการดูจิตใจของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการให้ความรู้ความเข้าใจด้าน Trauma-informed care

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลต่อการเกิดปมบาดแผลทางใจ( Trauma)ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและสมองอย่างไร?

ปมบาดแผลทางใจ(Trauma) นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายและทางใจแล้วยังส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของเราอีกด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็ก

Trauma ในเด็ก ส่งผลต่อภาวะหวาดกลัว หวาดระแวง ทำให้สมองส่วนที่พัฒนาด้าน executive function มีขนาดเล็กลง มีความบกพร่องด้านทักษะทางสังคม การเข้าร่วมสังคมใช้ชีวิตกับผู้อื่น ความกลัวฝังใจมักเป็นรากฐานการเติบโตที่อยู่ในพฤติกรรมและความคิดของเด็กในระยะยาว ถึงแม้ว่าวันเวลาผ่านไปเด็กจะมีการเติบโตและใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่พัฒนาและปรับปรุงดีขึ้นแล้วก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมที่เคยฝังใจอยู่กับความกลัว ความเครียดและวิตกกังวลในตอนเด็ก อาการแสดงออกเหล่านี้มักพัฒนากลายไปเป็น โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ Post-Traumatic Stress Disorder(PTSD) ในเวลาต่อมา

Trauma ส่งผลต่อพัฒนาด้านสังคม อารมณ์ จิตใจ ส่งผลต่อทักษะด้านความมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง และส่งผลต่อการขาดแรงบันดาลใจ ส่งผลต่อระบบประสาทสัมผัสด้านการพัฒนาความสำเร็จและความสามารถด้านการทำงานของสมองลดลง มีผลต่อแรงพลักดันในการพัฒนาด้านความสามารถ ความมุ่งมั่นด้านความสำเร็จเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รวมทั้งทัศนคติการมองโลกและใช้ชีวิตมักมีแต่ความเครียดและตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ในทางลบ มีการแสดงออกแบบไม่ชัดเจนก้ำกึ่งหรือตอบสนองแบบไม่รู้ขอบเขตการควบคุมตัวเองหรือใช้ความรุนแรง

อย่างไรก็ดี วัยเด็กมักเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการกระทำอันส่งผลให้เกิดปมบาดแผลทางใจได้ง่ายกว่าวัยอื่น ดังนั้นผู้ใหญ่ควรให้ความใส่ใจในการพัฒนาและใช้เทคนิคขั้นตอนในการฝึกฝน Trauma-informed care โดยเฉพาะในโรงเรียนที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่เด็กๆ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวันอันยาวนาน




4 เทคนิคในการพัฒนา Trauma-informed care ในโรงเรียน

Phrase1: ตระหนักรู้สัญญาณของปมบาดแผลทางใจ

(Trauma aware)

รับรู้และสังเกตสัญญาณของผู้ที่มีปมบาดแผลทางใจ อาจเป็นคนที่ให้บริการด้านต่างๆ เพื่อนร่วมงาน คนที่อยู่ในสังคมรอบตัวเรา เข้าใจสัญญาณและให้การสนับสนุนในการสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและมีความคิดเชิงบวก

Phrase2: อ่อนไหวต่อการรับรู้ (Trauma sensitive)

เมื่อเห็นและเข้าใจสัญญาณของปมบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นกับบางคนการตอบสนองย่อมต้องอาศัยความรู้และความแตกต่างกันในการปฎิบัติต่อผู้ได้รับผลกระทบ การสร้างทักษะด้าน Trauma-informed care ให้ความรู้ความเข้าใจและการให้การสนับสนุนทางใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

Phrase 3: การตอบสนอง (Trauma response)

เมื่อเรารู้และเข้าใจถึงประสบการณ์อันเลวร้ายที่สร้างให้เกิดปมบาดแผล (Trauma) ในคนที่เราต้องมีปฎิสัมพันธ์หรือใช้ชีวิตร่วมด้วยเราจะมีการตอบสนองและปฎิบัติต่อเขาที่เปลี่ยนไปตามการรับรู้เข้าใจและตามความรู้ที่เรามี ดังนั้นการให้ข้อมูลการรับรู้และข้อปฎิบัติด้าน Trauma-informed care จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

Phrase 4: Trauma informed

ให้การสนับสนุนด้านความรู้ความเข้าใจในหลักการปฎิบัติ ส่งเสริม มุ่งเน้นความเข้าใจเกี่ยวกับปมบาดแผลทางใจ และผลกระทบต่อชีวิต สร้างสิ่งแวดล้อมที่มีส่วนร่วมต่อการสร้างสรรค์และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก

ช่วยให้เด็กมีความรู้ข้อมูลในการจัดการกับพฤติกรรมที่อาจนำสู่ปัญหา สิ่งที่เป็นอุปสรรค ท้าทาย พฤติกรรมที่สร้างให้เกิดความรุนแรง หรือถูกละเมิด หมั่นฝึกฝนพัฒนาโดยและป้องกันผลกระทบที่เป็นปัญหาอันสืบเนื่องมากจากปมบาดแผลทางใจ โดยใช้หลักเทคนิค ด้านการสร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างความเชื่อใจ สร้างเพื่อนที่คอยสนับสนุน สร้างสังคมที่มีส่วนร่วม สร้างการรับฟัง สร้างทางเลือกและเปิดโอกาส รวมทั้งให้เกียรติและเคารพในความแตกต่าง

ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Trauma-informed care นั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจในพฤติกรรมและการจัดการกับปัญหาและการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาชีวิตในแต่ละคน ปมบาดแผลทางใจส่งผลต่อความเครียดที่รุนแรงและเด็กที่ประสบกับประสบการณ์ปมบาดแผลทางใจมักส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมเป็นผลกระทบมาจากประสบการณ์อันเลวร้าย

 

อ้างอิง
https://www.traumainformedcare.chcs.org/what-is-trauma-informed-care/
https://neu.org.uk/latest/library/impact-trauma-brain-development-and-functioning-children
https://aifs.gov.au/resources/practice-guides/effect-trauma-brain-development-children
https://traumasensitiveschools.org/trauma-and-learning/the-problem-impact/#:~:text=Traumatic%20experiences%20can%20impact%20learning,need%20to%20succeed%20in%20school.

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้