19 จำนวนผู้เข้าชม |
เข้าใจลูกเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่..พ่อแม่ควรดูแลย่างไร?
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
EMDR Psychotherapy Supervisor and Brainspotting Psychotherapy Practictioner
เมื่อลูกเติบโตขึ้น พ่อแม่ต้องปรับตัวการเจริญเติบโต และการเปลี่ยนแปลงของลูก สิ่งที่พ่อแม่ควรตระหนักคือ ต้องมีวิธีการสื่อสารดูแลสั่งสอนที่แตกต่างจากตอนเป็นเด็กหรือวัยรุ่น เปลี่ยนการใช้ความเข้มงวดไปเป็น ‘การดูแลที่ให้เกียรติลูกและให้อิสระ สร้างบรรยากาศที่คอยช่วยสนับสนุนในสิ่งต่างๆที่ลูกอยากค้นหาหรือเรียนรู้ ให้ทางเลือก เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ลูกมี พูดคุยกันแบบตรงไปตรงมาเปิดใจ วางขอบเขตไม่ไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวจนเกินไป ให้คำแนะนำแนวทางโดยไม่ต้องเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการกับชีวิตของลูก’
สื่อสารกับลูกในวัยผู้ใหญ่อย่างไร?
การพูดคุยสื่อสารกับลูกเมื่อเติบโตเป็นวัยผู้ใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ลูกอาจไม่อยากบอกความจริงทั้งหมด หรือมีบางเรื่องที่ปิดบังไม่เล่าให้ฟังเพราะไม่อยากฟังการบ่นหรือเทศนาอบรม ไม่อยากถูกวิพากษ์วิจารณ์ตัดสิน ดังนั้นนการสื่อสารกับลูกที่โตเป็นผู้ใหญ่จึงมีความแตกต่างกับตอนสื่อสารกับลูกที่เป็นวัยรุ่น วิธีการสื่อสารจึงต้องใช้เทคนิควิธีที่แตกต่างกัน พ่อแม่ควรเป็นผู้ฟังที่ดี
อย่างไรก็ตามการพูดคุยกับลูกในวัยผู้ใหญ่อาจต้องอาศัยความเข้าใจใช้คำถามปลายเปิดให้แสดงความคิดเห็นที่ไม่มีถูกผิด นำสู่การหาวิธีแก้ไขปัญหา สร้างบรรยากาศการสนทนาที่เป็นมิตรและรู้สึกปลอดภัย มีความสบายใจที่จะพูดคุย ลูกมักมีความเชื่อ และมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นในรูปแบบที่แตกต่างกับพ่อแม่ มีชีวิตและสไตล์ความชื่นชอบที่เป็นของตัวเอง พ่อแม่ควรตระหนักรู้ว่าลูกมีชีวิตเป็นของตัวเอง และพ่อแม่ไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาลของลูกอีกต่อไป ดังนั้นเมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไปการสื่อสารที่ส่งผลต่อสัมพันธภาพระหว่างกันก็ย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
ทำไมการสื่อสารกับลูกที่โตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วถึงเป็นเรื่องยาก
1. เพราะลูกไม่ใช่เด็กเล็ก
พ่อแม่บางคนไม่ตระหนักรู้ว่าลูกโตแล้ว แต่ยังคงคอยดูแลปกป้องดูแลเหมือนตอนลูกเป็นเด็กๆ ที่ต้องพึ่งพาพ่อแม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งอาจเกินเลยไปถึงการเข้าไปควบคุมชีวิตลูกมากไปจนลืมไปว่าลูกโตพอที่จะสามารถดูแลจัดการสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองได้แล้ว หากพ่อแม่ไม่ตระหนักรู้ในเรื่องขอบเขตก็อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่ได้รับการให้เกียรติจึงเป็นเหตุผลที่ลูกไม่อยากสื่อสารกับพ่อแม่
2. ลูกกลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์ตัดสินจากพ่อแม่
ถึงแม้ว่าลูกจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ลูกยังคงต้องการการสนับสนุนและการยอมรับจากพ่อแม่ หากพ่อแม่วิพากษ์วิจารณ์การเลือกและการตัดสินใจของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีแฟน หรือเรื่องอาชีพการงานของลูกก็อาจส่งผลให้ลูกกลัวการสนทนากับพ่อแม่ ไม่อยากคุยด้วยในบางประเด็นที่อ่อนไหวเพราะไม่อยากถูกทำร้ายจิตใจ
3. พ่อแม่บุกรุกพื้นที่ส่วนตัวมากเกินไป
หากพ่อแม่สอบถามเรื่องส่วนตัวของลูกบ่อยครั้งมากเกินไป เช่น เรื่องการเงินหรือเรื่องสัมพันธภาพกับคนรัก อาจสร้างความอึดอัด และรู้สึกไม่ได้รับการให้เกียรติในเรื่องความเป็นส่วนตัว เป็นการยากที่ลูกอยากจะคุยด้วยอย่างเปิดเผย
4. ลูกเคยมีปมบาดแผลทางใจที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูกส่งผลต่อพฤติกรรมและการสื่อสารของลูกเมื่อโตขึ้น บุคลิคภาพที่บกพร่องอันเกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่บกพร่องไม่สมบรูณ์ อาจส่งผลกับประสบการณ์แย่ในอดีต ทำให้การสื่อสารเมื่อลูกโตขึ้นมีปัญหา ถูกกระตุ้นอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ง่าย
5. ช่องว่างระหว่างวัย
บางครั้งความแตกต่างระหว่างวัย ส่งผลต่อวัฒนธรรม สังคม ศาสนาและความเชื่อที่แตกต่างกัน เช่น การเปิดใจยอมรับในบางเรื่องในสังคมที่ลูกอยู่ เช่น การยอมรับในความแตกต่างของเพศสภาพ (LGBYQ community) หากพ่อแม่รู้สึกไม่ยอมรับในความแตกต่างระหว่างยุคสมัยอาจเป็นเรื่องยากที่ลูกจะอยากเข้าหา
ทำไมการสื่อสารกับลูกวัยผู้ใหญ่ถึงสำคัญและจำเป็น?
ลูกในวัยผู้ใหญ่ยังต้องการสัมพันธภาพที่ดี การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการสนับสนุนจากพ่อแม่อยู่เสมอ ถึงแม้ว่าลูกจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้วก็ตามแต่สัมพันธภาพกับพ่อแม่ที่ดีช่วยให้ลูกรู้สึกปลอยภัยและมีที่พึงทางใจ ทำให้ลูกกล้าลองทำในสิ่งใหม่ๆ
ทำอย่างไรให้ลูกที่เป็นผู้ใหญ่สามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้อย่างตรงไปตรงมา
การที่ลูกที่เติบโตแล้วจะสามารถสื่อสารพูดคุยกับพ่อแม่ได้อย่างเปิดเผยไม่ปิดบังนั้น เป็นเรื่องท้าทาย แต่จากผลสำรวจพบว่า สานสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีช่วยให้ลูกสื่อสารพูดคุยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไม่ปิดบังพ่อแม่ ลูกสามารถเป็นตัวของตัวเองและพึ่งพาตัวเองได้ ยิ่งรู้ว่าพ่อแม่คอยเป็นทัพหลังให้คอยช่วยเหลือสนับสนุน ยิ่งทำให้ลูกกล้าที่จะเรียนรู้ กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ กล้าลองผิดลองถูก มีเป้าหมายในชีวิตและพร้อมฝ่าฟันอุปสรรคในวันที่ชีวิตเจอมรสุมขึ้น-ลง จากการศึกษาคนในวัยผู้ใหญ่ 15,000 คนพบว่า คนที่มีการสื่อสารกับพ่อแม่ที่ดี มีสัมพันธภาพในครอบครัวกับพ่อแม่ที่ดี มักเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพทางด้านร่างกายที่ดี มองโลกในแง่ดี มีความโรแมนติกในวัยผู้ใหญ่ และผลรายงานแสดงปัญหาด้านสุขภาพจิต ด้านโรคซึมเศร้า และ การติดสารเสพติดน้อยกว่าครอบครัวที่สัมพันธภาพและการสื่อสารที่ไม่ดีมีหรือมีปัญหาครอบครัว
นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่ามากกว่าหนึ่งในสามของผู้ใหญ่วัย 18-25 ปี นั้นต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานด้านปัญหาสุขภาพจิตเพราะถูกละเลยจากพ่อแม่ด้านการสื่อสาร การสื่อสารที่ดีและสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิตและช่วยให้ความสัมพันธ์มีการปรับปรุงพัฒนา ความเข้าใจและความรักในครอบครัวช่วยลดความเครียดให้ลูกในวัยผู้ใหญ่ ทำให้ลูกมองเห็นคุณค่าในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของคนในครอบครัว รวมทั้งยังช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่จะตามมาอีกหลายอย่างในอนาคตอีกด้วย
โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปอย่างมากลูกในวัยผู้ใหญ่ของเรามักต้องเผชิญกับความท้าทายในชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะด้วยการแข่งขันในตลาดการหางาน ความกดดันในเรื่องความสำเร็จในชีวิต สังคมการเปรียบเทียบกันด้านสถานะ หลายอย่างกดดันพ่อแม่จึงควรตระหนักรู้และเข้าใจการดูแลลูกวัยผู้ใหญ่ที่แตกต่างกันโดยเฉพาะในวัย 20, 30, และ 40 ปี
3 ช่วงวัยของลูกวัยผู้ใหญ่แบ่งได้ดังนี้