การสร้างทักษะ Resilience ให้ลูกทำได้อย่างไร?

2018 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การสร้างทักษะ Resilience ให้ลูกทำได้อย่างไร?

การสร้างทักษะ Resilience

สร้างได้อย่างไร?

 

ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D) 

นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

Resilienceคืออะไร? และ สำคัญอย่างไร?

ทำไม Resilience ถึงเป็นทักษะที่สำคัญกับเด็กและผู้ใหญ่

เราอาจเคยได้ยินทักษะ resilience แต่ยังไม่รู้ว่าจริงๆแล้วความหมายที่แท้จริงของ resilience นั้นคืออะไร

Resilience คือ การฟื้นคืนสู่สภาวะปกติของจิตใจ คือความเข้มแข็งทางด้านจิตใจหากต้องเผชิญปัญหาอุปสรรค ความทุกข์ใจ หรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ หรือ ความยากลำบากในชีวิต

สำหรับเด็กเหตุการณ์ที่อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจคงหนี้ไม่พ้นการปรับตัวกับเรื่องใหม่ๆ เช่น การย้ายบ้าน การย้ายโรงเรียนต้องไปเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ เพื่อนใหม่ การเรียน การสอบที่ยาก ผลการเรียนที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือการสูญเสียบุคคลสำคัญอันเป็นที่รักในชีวิตไป

อย่างไรก็ตามการสร้างเสริมทักษะด้าน resilience ให้เด็กไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเตรียมความพร้อมให้พวกเขาในเรื่องการเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคที่เผชิญอยู่เท่านั้น แต่ยังช่วยพวกเขาสามารถจัดการกับปัญหาความยากลำบากที่อาจต้องเจอในชีวิตในแต่ละวันอีกด้วย เพราะปัญหาคือส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคน ดังนั้นไม่ว่าเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กก็ต้องพบเจอปัญหาอุปสรรคในชีวิตไม่แพ้กัน

 



แล้วเด็กๆจะหาResilience ได้จากที่ไหน?

ทักษะresilience นั้น มีอยู่ในตัวของเราแต่ละคนตั้งแต่เกิด เราเกิดมาพร้อมกับ ยีนส์ บุคคลิกภาพภายนอก และอารมณ์ความรู้สึกภายใน และสิ่งแวดล้อมที่เราได้เติบโตขึ้นมา ก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา ครอบครัว และสังคม ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเติบโตและสร้างทักษะ Resilience ให้เราเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความแข็งแกร่งด้านร่างกายหรือสุขภาพที่กำเนิดได้มากมาย แต่เราสามารถแก้ไขปรับปรุงความแข็งแกร่งด้านจิตใจภายในได้อย่างมากมาย และผู้ใหญ่ทุกคนมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างทักษะ Resilience นี้ให้กับเด็กๆ และลูกหลานของเรา ผู้ใหญ่ควรร่วมมือกัน ทั้งในครอบครัวและ ในชุมชน ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปในการเริ่มต้นสร้างทักษะ Resilienceให้กับลูกหลานตัวน้อยๆ หรือเยาวชนของชาติ

เปรียบได้กับการที่เด็กๆเป็นเครื่องบินและต้องเผชิญกับพายุ หรือสภาพอากาศที่ไม่ดี แต่หากมีผู้ช่วยนักบินที่ดี นั่นก็คือครอบครัว เพื่อน ครู นักจิตวิทยาที่คอยช่วยเหลือเขาก็จะสามารถทำให้พวกเขาเข้มแข็งและผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ รวมทั้งมีอุปกรณ์เครื่องบินที่ดีเปรียบได้กับการมีบุคคลิกลักษณะเป็นคนอารมณ์ที่ดี ก็จะช่วยให้ชีวิตผ่านพ้นสภาพอากาศแย่หรือสถานะการณ์อันเลวร้ายไปได้ อย่างไรก็ตามระยะเวลาของความเลวร้ายจะยาวนานหรือสั้นนั้นก็มีผลต่อการเอาชนะอุปสรรคและการฟื้นคืนสู่สภาวะปกติทางจิตใจของเด็กด้วยเช่นกัน   

ดังนั้นการช่วยให้เด็กมีทักษะResilience จึงต้องอาศัยความร่วมมือและความตั้งใจจริงของผู้ใหญ่ทุกฝ่าย



การสร้างเสริม ทักษะResilience ให้ลูกทำได้อย่างไร?

เมื่อผู้ปกครองตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทักษะนี้ จะทำให้สามารถช่วยให้ลูกๆพัฒนาทักษะresilience ที่สำคัญนี้ได้ เพราะการพัฒนาทักษะ resilienceต้องอาศัยทั้งวินัย ทัศนคติที่มีต่อการสร้างทักษะresilienceโดยต้องเริ่มจากที่บ้านด้วยการส่งเสริมวินัยต่างๆดังนี้

การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น รวมทั้งผู้ใหญ่คนอื่นและเพื่อนๆด้วย

  • มีการใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ พูดคุยกัน เล่นเกมส์กัน หรือ ทำกิจกรรมร่วมกัน
  • ให้การสนับสนุนส่งเสริมเวลาลูกต้องการไปสร้างสัมพันธ์กับผู้ใหญ่คนอื่น
  •  ให้การส่งเสริมเรื่องทักษะการสร้างสัมพันธ์ภาพกับเพื่อน การเล่น การอยู่กับเพื่อนเพื่อสร้างทักษะทางสังคมให้ลูก
  • ส่งเสริมพัฒนาเรื่องการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เข้าใจจิตใจคนอื่น ด้วยการเป็นตัวแบบที่ดี หรือสอนลูกเรื่องการคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่น
  • มีการส่งเสริมให้รู้จักทำอะไรด้วยตนเอง และเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก
  • ฝึกให้ลูกรู้จักสิทธิของตัวเองไม่ให้ใครมาละเมิดหรือเอาเปรียบ
  • ฝึกให้รู้จักหน้าที่ และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน
  • อย่าปกป้องลูกจนเกินกว่าเหตุเพราะในชีวิตจริงคนเราต้องเจออุปสรรคความยากลำบากในการทำงาน การได้ลงมือทำจะช่วยเสริมทักษะการแก้ปัญหาที่ดีให้ลูกได้
  • การเรียนรู้ที่จะยอมรับในตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง และเปิดโอกาสให้ลูกได้อธิบายเหตุผล และส่งเสริมเรื่องการจัดการด้านอารมณ์

 




การมี resilience ไม่ได้แปลว่าเด็กจะต้องมีอารมณ์ทีดีอยู่ตลอดเวลา แต่หมายถึงการจัดการกับอารมณ์หรือการตอบสนองต่ออารมณ์ลบที่มารบกวนในทางสร้างสรรค์ ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวแบบที่ดี จำไว้ว่าการพัฒนา resilience ไม่ได้เป็นการทำให้เด็กไร้อารมณ์ แต่เป็นการช่วยเขาให้จัดการกับอารมณ์ลบในทางบวก

ส่งเสริมการควบคุมจัดการด้านอารมณ์ของลูก

  • ใช้คำถามที่ไม่มีถูกผิดเพื่อรับฟังความคิดเห็นและพูดคุยกับลูก
  • ให้กำลังใจส่งเสริมการพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกที่ลูกมี
  • ให้คำแนะนำเมื่อลูกมีความเครียด
  • ช่วยเหลือลูกในการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง
  • ให้คำแนะนำในการเตรียมตัวกับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หรือ เหตุการณ์ที่ไม่อยากเจอ
  • ให้กำลังใจและสอนลูกว่าช่วงเวลายากลำบากมันก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกคนที่ทำให้เราเติบโตแข็งแกร่ง




สร้างความมั่นใจในตัวเองและส่งเสริมการแสดงออกของลูกอย่างสร้างสรรค์

  • สร้างโอกาส และให้ลูกเจอความท้าทายบ้างในชีวิต เมื่อลูกโตขึ้นด้วยวัยและการอยากเรียนรู้ เขาจะเริ่มขอทำในสิ่งที่พ่อ-แม่คิดว่ามีความเสี่ยง เช่น ขอเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง ผู้ปกครองต้องพิจรณาเรื่องความปลอดภัยและปัจจัยที่เหมาะสมกับวัย และควรเปิดโอกาสให้เขาได้สร้างทักษะอันท้าทายนี้ และคอยดูเรื่องความปลอดภัยให้อยู่ในความเสี่ยงระดับต่ำและไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต และต้องยอมรับหากเกิดความผิดพลาด
  • สอนให้ลูกรู้จักปล่อยวาง ให้เขามีทัศนะคติแห่งการเรียนรู้ทดลอง มีผิดพลาด และรู้จักอดทนกับสิ่งที่ล้มเหลวที่เกิดขึ้น เพื่อลองความสำเร็จครั้งใหม่ไม่เช่นนั้นเด็กจะรู้สึกกังวลและจะกลัวความล้มเหลวไปตลอดหากอดทนรอความสำเร็จที่ยังมาไม่ถึงไม่เป็นและจะไม่ยอมเรียนรู้ที่จะทำอะไรใหม่เพราะกลัวการไม่ประสบความสำเร็จ
  • ให้ลูกออกไปมีประสบการณ์ในการเรียนรู้ทุกๆวัน เช่นเด็กเล็กควรให้ออกไปเล่นกับเพื่อนๆ เด็กประถมควรให้เล่นกีฬา เพื่อเรียนรู้แพ้ ชนะ ปล่อยวาง และจัดการกับปัญหาอุปสรรคที่ได้เจอในการแข่งขัน
  • ส่งเสริมหน้าที่และความรับผิดชอบ เช่นการช่วยงานบ้าน จัดโต๊ะอาหาร ล้างผัก และเริ่มให้งานที่ยากขึ้น เพื่อเพิ่มทักษะ และความท้าทายให้กับเขา
  • ถามลูกเกี่ยวกับเพื่อนและโรงเรียน รับฟังปัญหาพยายามให้ลูกได้เล่าหรือระบาย
  • พยายามช่วยลูกคิดหาทางออกหากลูกเจอสถานการณ์ที่มีความยากลำบากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องเพื่อนหรือโรงเรียน

Resilience เป็นทักษะทางจิตวิทยาที่มีความสำคัญมากในชีวิต หากเด็กมีทักษะResilienceจะช่วยให้เขาสามารถแก้ปัญหาในชีวิตได้ และ จัดการกับความเครียด ความยากลำบาก อุปสรรคในชีวิตด้วยตนเองและกลับมายืนหยัดเข้มแข็งต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตยิ่งมากขึ้นไปได้ ช่วยให้เด็กสามารถที่จะปรับตัวและทำชีวิตให้มีความสุขได้แม้จะผ่านความยากลำบากมากมาย ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรช่วยเสริมสร้างทักษะresilience ให้เติบโตไปพร้อมกับการเรียนรู้ในทุกๆวันของลูก หากพบว่าปัญหาและอุปสรรคในชีวิต หรือบุคคลิกภาพที่บกพร่องเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะresilience ของลูกควรปรึกษานักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ หรือ จิตแพทย์ประจำครอบครัว

 
อ้างอิง

https://seasanctuary.org.uk/young-persons-services/emotional-resilience/
https://healthyfamilies.beyondblue.org.au/healthy-homes/building-resilience

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้