1803 จำนวนผู้เข้าชม |
5 วิธีจัดการกับความอิจฉาเมื่อเห็นความสำเร็จของผู้อื่น
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา
Marid Kaewchinda (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
นักจิตบำบัด EMDR Psychotherapy/ Brainspotting Psychotherapy
ความรู้สึกอิจฉาคนอื่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์ทุกคน แต่หากไม่ระวังหรือไม่ตระหนักรู้ความรู้สึกนึกคิดอารมณ์ในลักษณะนี้อาจก่อตัวกลายเป็นความรู้สึกขมขื่นในใจจนอยากทำร้ายความสำเร็จของผู้อื่น ความรู้สึกเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้เพราะความสำเร็จของผู้อื่นอาจทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด และอาจสร้างความสะเทือนใจต่อคนที่อิจฉา เราควรให้ความสำคัญและทำความเข้าใจกับความรู้สึกขี้อิจฉานี้ เนื่องจากความรู้สึกขึ้อิจฉามักนำพาไปสู่ความสัมพันธ์ที่แย่ลงได้หากไม่รู้จักวิธีรับมือกับมันให้ดี
ทำความเข้าใจกับความรู้สึกขึ้อิจฉา อะไรคือสาเหตุ
ความรู้สึกอิจฉาริษยา สามารถเกิดได้กับทุกคนไม่มากก็น้อย ความรู้สึกนี้มักมาคู่กับการพัฒนาความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งนำมาซึ่งความเครียดและกดดันร่วมด้วยในบางครั้ง ทำอย่างไรเราถึงจะสามารถก้าวต่อไปในชีวิตแบบไม่ต้องหงุดหงิดกับความรู้สึกแบบนี้ได้ด้วยเทคนิคดังต่อไปนี้
5 เทคนิคหยุดนิสัยขี้อิจฉาเมื่อเห็นคนอื่นประสบความสำเร็จ
1. ยอมรับเพื่อพัฒนาแก้ไข และหยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
ตรวจสอบตัวเอง หากมีความรู้สึกอิจฉาเกิดขึ้นและควบคุมมันให้ได้ ความคิดอิจฉาแสดงถึงความไม่มั่นคงทางใจ และความอ่อนแอในตัวเอง อย่างไรก็ตามเราสามารถเปลี่ยนพลังงานจากความอิจฉาเป็นการพัฒนา และพลักดันตนเองไปสู่จุดหมายที่สำเร็จในชีวิตได้
อย่างไรก็ดีควรหยุดเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น การเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน หรือเจ้านาย มีแต่ยิ่งสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรให้เกิดขึ้น และยิ่งเป็นการสร้างความคิดลบว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรม และในยุคนี้การใช้ Social media เข้ามาเกี่ยวข้องและง่ายมากที่จะส่องชีวิตคนรู้จัก เห็นชีวิตที่หรูหรา มีความสุข มีเงินทองมากมาย ไปท่องเที่ยวบ่อย ๆ สุขภาพดีและหน้าตาสวยงามดูดี อาจยิ่งกระตุ้นความรู้สึกขี้อิจฉาให้เพิ่มมากขึ้นจนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ ควรหยุดพักจาก Social media
หากไม่ควบคุมความอิจฉา เราอาจนำตัวเองไปสู่การกระทำอื่น ๆ ที่สร้างความเสียหายได้ เช่น เราอาจเสียเงิน หรือเวลาไปกับการทำตัวให้เหมือนคนอื่นที่เรากำลังอิจฉาอยู่ โดยลืมไปว่าเราควรมีความสุขและชื่นชมกับชีวิตในแบบที่เราเป็น และพอใจกับสิ่งที่เรามี การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน และพยายามหาวิธีที่จะเป็นเหมือนพวกเขาอย่างรวดเร็วด้วยวิธีไม่ถูกต้องจะนำปัญหาที่ยุ่งยากตามมา วิธีที่ดีที่สุดคือต้องหยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หรือหยุดแข่งขันกับคนอื่น แต่ควรแข่งขันกับตัวเองในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น และดีกว่าเมื่อวานที่เคยเป็นมา เพราะชีวิตของคนแต่ละคนมีบริบทและปัจจัยที่แตกต่างกันเราไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้
2. เปลี่ยนกรอบความคิดใหม่ นำพลังความอิจฉามาเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาผลักดันตัวเอง
ความอิจฉาเป็นรากฐานที่มาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ซึ่งเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ ความทุกข์ยากในวัยเด็ก ปมบาดแผลทางใจ ปมปัญหาสุขภาพ ความไม่มั่นคงทางการเงิน และปมบาดแผลที่อาจเป็นอุปสรรคต่อเส้นทางสู่ความสำเร็จในปัจจุบัน แต่หากเรามีกรอบความคิด (Mindset) ที่ต้องการพลัดดันตัวเองไปสู่ความสำเร็จเราต้องมองที่ความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง สิ่งเดียวที่จะทำให้เราถูกฉุดรั้งคือการที่มัวแต่เสียเวลาไปรู้สึกอิจฉาริษยาผู้อื่นโดยไม่รีบลงมือทำความฝันตัวเองให้ประสบความสำเร็จ
3. มองภาพใหญ่และมองให้เห็นความจริง
ไม่มีใครเกิดมาสมบรูณ์แบบ ความสำเร็จของผู้อื่นที่เราได้เห็นและมีคนชื่นชม เบื้องหลังนั้นเขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าจะมาถึงจุดนี้ ดังนั้นความสำเร็จที่เรามีแม้จะเล็กน้อยก็อย่าลืมที่จะชื่นชมตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองและควรเห็นคุณค่า รู้ซึ้งชื่นชมในการกระทำของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สะสมความสำเร็จเล็กๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อสักวันจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้ อย่ามัวแต่ต้องการการชื่นชมจากผู้อื่นเพียงอย่างเดียว การเดินไปถึงเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจเพื่อรอการยอมรับและเพียงคำชื่นชมจากผู้อื่นเป็นแค่เพียงการโชว์อีโก้และความเหนือกว่าผู้อื่นเท่านั้น การชื่นชมกับความสำเร็จที่ตนมีแม้จะเล็กน้อยก็มีคุณค่า ความสำเร็จที่เราเห็นคนอื่นโอ้อวดใน Social media อาจไม่ใช่ของจริงก็ได้ เราต้องสร้างสุขให้ตนเองให้ได้โดยไม่ต้องรอการชื่นชมจากผู้อื่น
4. ต้องไม่เอาตัวเองเป็นมาตรฐานวัดความยุติธรรม
บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานคนนี้ไม่สมควรได้เลื่อนตำแหน่ง แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือโลกนี้ก็เป็นเช่นนี้ คือไม่มีความเท่าเทียม หรือความยุติธรรม โดยเฉพาะความยุติธรรมในมุมมองของเรา ดังนั้นอย่าไปเสียเวลาใส่ใจในสิ่งที่เราควบคุมอะไรไม่ได้ แต่จงมุ่งมั่นทำชีวิตให้ประสบความสำเร็จในแบบฉบับของเรา และทำมันให้ดีที่สุด
5. สร้างนิยามความสำเร็จของตัวเอง
การเอาความสำเร็จของผู้อื่นมาเปรียบกับตัวเองเป็นเรื่องน่าเศร้าเพราะเราจะไม่ตระหนักว่าเราอยู่กันคนละสนามแข่งขัน ดังนั้นจงชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น และมองว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้เป็นแบบอย่างมากกว่าจะไปแข่งขัน เราควรกำหนดนิยามความสำเร็จของตัวเอง โฟกัสที่เป้าหมายของตัวเองและทำมันให้เต็มที่ ความสำเร็จที่ผู้อื่นมีไม่สามารถทำให้ ทักษะ ความสามารถของตัวเรานั้นลดลงได้ แต่ความมุ่งมั่นทำให้ดีที่สุดในเส้นทางของตัวเองมากกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คนเดียวเท่านั้นที่เราควรเปรียบเทียบคือตัวเราเองในเมื่อวาน และพยายามทำหน้าที่ในวันนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกวัน การที่เรามีการพัฒนาเพิ่มขี้นในทุกวันจะสามารถนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้อย่างแน่นอน
หากไม่สามารถกำจัดความคิดลบหรือมีmindset ที่เป็นผลร้ายต่อตัวเองและการใช้ชีวิต ควรรีบไปปรึกษาและนัดหมายผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำจิตบำบัด
อ้างอิง
https://www.inc.com/jessica-stillman/5-steps-to-bust-your-envy.html
https://www.forbes.com/sites/amymorin/2017/01/22/5-ways-to-stop-resenting-other-peoples-success/?sh=7f50e1d14776