386 จำนวนผู้เข้าชม |
10 เหตุผลที่คู่รักมักแยกทาง?
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
EMDR Psychotherapy Supervisor and Brainspotting Psychotherapy Practictioner
คู่รักกับการใช้ชีวิตคู่ มักมีเหตุผลมากมายในการแยกทางกัน ไม่ว่าจะเป็นความเบื่อหน่าย เป้าหมายในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน รวมทั้งปัญหาการนอกใจ ความขัดแย้งที่ไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องสัมพันธภาพบนเตียง บาดแผลทางใจที่ไม่ได้รับการดูแล การถูกควบคุมถูกกักขัง ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจหรือการเติบโตที่มีเป้าหมายไม่เหมือนกันเมื่อเวลาผ่านไป เหล่านี้เป็นต้น และเป็นที่น่าเศร้าเมื่อเกิดการแยกจากคู่ชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับการแยกจากหรือการจากลาเป็นอย่างดี
หลายคู่เมื่อฝ่ายหนึ่งต้องการจบความสัมพันธ์และต้องการเดินจากไปในขณะที่อีกฝ่ายยังยึดติดอยู่ในความสัมพันธ์และไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะใช้ชีวิตเพียงลำพังเหล่านี้สร้างความเจ็บปวดและสับสนและทำให้เกิดคำถามในใจว่าทำไมเหตุใดและไม่เชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจริง
ความเป็นจริงคู่รักและคู่ชีวิตต่างรู้ดีทั้งคู่ว่าความสัมพันธ์ของตนนั้นสั่นคอนไม่มั่นคงมาระยะหนึ่งแล้วแต่เพียงแค่อีกฝ่ายยังคิดไม่ถึงในเรื่องการเดินแยกทางและยังเชื่อว่าการทะเลาะเบาะแว้งไม่ลงรอยหรือมีปัญหากันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตคู่เดี๋ยวมันก็จะดีขึ้นเอง และไม่เคยเตรียมใจนึกถึงวันที่อีกฝ่ายไม่สามารถจะทนอยู่กับความสัมพันธ์ที่ไม่มีความสุขแบบนี้ได้อีกต่อไปและขอแยกทาง ซึ่งหากอีกฝ่ายไม่ได้รับการเตรียมพร้อมในการจบความสัมพันธ์ย่อมส่งผลกระทบด้านจิตใจอย่างเจ็บปวดร้ายแรง
สาเหตุใดที่คู่ชีวิตมักเดินแยกทาง
1. การนอกใจ
เป็นสาเหตุหลักของการแยกทาง เมื่ออีกฝ่ายได้ไปสานสัมพันธ์และให้ความสนใจกับความรักครั้งใหม่กับคนรักใหม่ การละทิ้งอีกฝ่ายมักเกิดขึ้นโดยง่ายถึงแม้จะพบหลักฐานของความไม่ซื่อสัตย์ ฝ่ายนอกใจมักจะหลบเลี่ยงและปฎิเสธ บางคู่รักที่อยู่ด้วยกันมานานพอและยังมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันอาจพอให้โอกาสในการซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่ผิดพลาด และเริ่มต้นใหม่ด้วยกันได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการซ่อมแซมรอยร้าวสำหรับประเด็นความเชื่อใจที่เคยมีให้กัน
2. ความเบื่อหน่าย
หลายคู่ชีวิตไม่ได้ตระหนักถึงสัมพันธภาพที่เริ่มอิ่มตัว ไม่มีความตื่นเต้น คาดเดาได้ง่ายว่าอีกฝ่ายคิดอะไรและจะทำอะไรจนบางครั้งไม่มีอะไรที่อยากค้นหาหรือรู้สึกน่าสนใจอีกต่อไป
3. ทะเลาะเบาะแว้ง
บ่อยครั้งการทะเลาะกันในเรื่องเดิมๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขสร้างปัญหาด้านอารมณ์มากมาย เมื่ออีกฝ่ายไม่ต้องการทะเลาะถกเถียงอีกต่อไปแล้วจึงทำให้เกิดการแบกรับและอดทนจนถึงวันที่ทนไม่ไหวและเดินจากไป
4. สร้างแต่ปัญหา
การใช้ชีวิตคู่เป็นการพึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกันและกันในยามลำบาก ปัญหาด้านสัมพันธภาพที่ต้องคอยดูแลปรับปรุงในทุกๆ วันรวมทั้งความรับผิดชอบต่อกันและกัน แต่หากอีกฝ่ายนำพาปัญหาเข้ามารบกวนความสัมพันธ์ชีวิตคู่และต้องคอยช่วยสะสางแบบไม่จบไม่สิ้น ก็ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเหน็ดเหนื่อยและถึงเวลาต้องจบความสัมพันธ์เพื่อรักษาความสมดุลให้ตัวเอง
5. เป้าหมายและความฝันเปลี่ยนไป
เมื่อเริ่มต้นสัมพันธภาพของคู่รักอาจมีหลายสิ่งที่เหมือนกันและสามารถที่จะร่วมทางกันเพื่อเติมเต็มความฝันและทำให้ฝันเป็นจริงได้แต่พอนานไปเป้าหมายที่ทั้งคู่มีอาจมีการเปลี่ยนแปลง คนหนึ่งรู้สึกว่าเป้าหมายเดิมนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตนต้องการอีกต่อไป ในขณะที่อีกฝ่ายยังมีจุดยืนเดิมและมุ่งมั่นที่จะทำตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นั้นจึงทำให้ต้องเดินคนละทาง
6.การไม่ได้ดั่งหวัง
ช่วงแรกของความสัมพันธ์ชีวิตคู่หากเจอเรื่องไม่ประทับใจ ไม่พอใจหรือพฤติกรรมที่ไม่ชอบ คู่รักก็อาจจะพอทำใจให้อภัยได้ และมีความเชื่อว่าด้วยความรักที่มีให้กันน่าจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับพบว่าไม่ง่ายเลยที่จะต้องจัดการกับปัญหาเหล่านี้และดูไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น
7. ต้องการเวลาอยู่ลำพัง
บางครั้งชีวิตคู่สำหรับบางคนสร้างความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจนรู้สึกเพียงพอแล้วกับการร่วมแบ่งปันชีวิตกับใครบางคน และต้องการเวลาให้ตัวเองกลับมาเป็นตัวเอง ขอมีชีวิตในแบบที่ตนต้องการ หรือบางครั้งการรอคอยความเหลียวแลห่วงใยจากอีกฝ่าย แต่ไม่เคยได้รับก็ทำให้เลือกที่จะรักและดูแลตัวเองลำพังดีกว่ามีชีวิตคู่ที่ไม่ได้รับการรักและห่วงใย
8. แยกย้ายเพื่อไปเติบโตและพัฒนา
หลายคู่ใช้ชีวิตร่วมกันโดยให้คำมั่นสัญญาในความสัมพันธ์ที่จะรักมั่นคงยืนยาว แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับรู้สึกว่าการใช้ชีวิตคู่นั้นเต็มไปด้วยความรับผิดชอบมากมาย ด้านสัมพันธภาพความรัก ความซื่อสัตย์ การงาน การเงิน การดูแลลูก บางคนไม่เข้าใจและไม่เตรียมพร้อมที่จะปรับตัวเปลี่ยนแปลงในการรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและรู้สึกว่าการใช้ชีวิตคู่เป็นการถูกกักขังจองจำทำให้เลือกที่จะเดินกลับไปอยู่จุดเดิมก่อนมีชีวิตคู่เพื่อต้องการชีวิตที่มีอิสระ
9. ต้องการหาสิ่งใหม่มาเติมเต็ม
บางคนชีวิตคู่ที่มีร่วมกันนั้นได้เติมเต็มกันและกัน รู้สึกปลอดภัยสบายใจมีชีวิตที่เป็นปกติสุขเรียบง่าย แต่อีกฝ่ายกลับยังต้องการอะไรที่มากกว่านั้น ยังอยากค้นพบความท้าทายใหม่ๆ ในความสัมพันธ์ใหม่ๆ และจัดให้ความสัมพันธ์เดิมเป็นความสัมพันธ์แบบฉันท์เพื่อน มักเกิดในช่วงวัยกลางคน
10.ความผิดพลาดตั้งแต่แรกเริ่ม
บางคู่รู้สึกสัมผัสได้ของสัมพันธภาพที่จะต้องมีปัญหาต่อไปในอนาคต แต่ก็ยังเลือกที่จะอยู่กับความสัมพันธ์ และไม่ต้องการให้อีกฝ่ายเสียใจ หรือไม่อยากให้คนที่คาดหวังกับชีวิตคู่ของตนนั้นผิดหวัง ดังนั้นเมื่อเลือกที่จะปฏิเสธความต้องการในใจของตัวเองจึงมักเกิดความขัดแย้งขึ้นในใจและพยายามคิดว่ามันต้องดีขึ้น อย่างไรก็ตามหากความสัมพันธ์ชีวิตคู่ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ตั้งใจและพยายามปรับปรุงสัมพันธภาพชีวิตคู่แล้วก็ตาม อาจทำให้ท้อแท้ สิ้นหวังและรู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องซื่อสัตย์กับความต้องการที่แท้จริงของตนเองและจบความสัมพันธ์ลง
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเลือกที่จะอยู่ต่อในความสัมพันธ์หรือต้องการจบความสัมพันธ์ ควรซื่อสัตย์กับความความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองและควรเปิดใจคุยกัน แน่นอนว่าการสูญเสียย่อมนำมาซึ่งความเสียใจ ดังนั้นควรใช้เวลาทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมในขั้นตอนการทำใจเพื่อป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายเกิดการสับสน และไม่ยอมรับความเป็นจริง จนเกิดพฤติกรรมการกระทำรุนแรงต่อกัน
ควรเลือกจบสัมพันธภาพชีวิตคู่ดีหรือไม่?
หากเรารู้สึกไม่มีความสุขหรือไม่มีความชัดเจนในความสัมพันธ์อาจถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง การเดินออกจากชีวิตใครบางคนอาจช่วยให้เราได้กลับมาใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการอย่างมีความสุขได้
เมื่อคนเราตกหลุมรักกันในตอนแรกทุกอย่างดูดีสดใส ต่างคนวิ่งตามหากันและให้ความใส่ใจกันและกันแต่เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่ต่างฝ่ายเคยเอาใส่ใจกลับถูกละเลยไม่เหมือนตอนแรก การจบความสัมพันธ์ในความรักไม่ใช่เรื่องง่ายแต่การที่ต้องทนอยู่กับคนที่ไม่เห็นคุณค่าหรือไม่ใส่ใจ ไม่พยายามพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นก็เป็นเรื่องแย่ไม่แพ้กัน
ควรเลือกเดินออกจากชีวิตคู่ในกรณีใด?
บางครั้งในสัมพันธภาพที่มีการทำร้ายร่างกายและจิตใจ หรือมีสัมพันธภาพที่เป็นพิษ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันแล้วไม่มีความสุขก็ควรเรียนรู้ที่จะก้าวออกมาและใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวเอง เราควรเรียนรู้ที่จะก้าวต่อไปและเปิดโอกาสในการมองหาสังคมใหม่ งานใหม่ เพื่อนใหม่ โดยไม่ต้องกังวลกับความคิดเห็นของใครบางคนที่ไม่เป็นประโยชน์กับเรา
จำไว้เสมอว่าการก้าวออกมาหรือการจบความสัมพันธ์ควรเป็นการตัดสินใจแบบคิดรอบคอบถี่ถ้วนแล้วเพื่อการมีชีวิตที่ดีกว่า และไม่ควรทำเล่นๆ หรือพ่ำเพื่อโดยไม่คิดจริงจัง การจบความสัมพันธ์อาจเป็นการทำให้อีกฝ่ายได้คิดทบทวนและพยายามแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองหากต้องการจะสานสัมพันธ์ต่อ เพราะฉะนั้นการแยกทางหรือจบความสัมพันธ์นั้นเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อทั้งคู่เป็นอย่างยิ่งควรพิจารณาปัญหาและปัจจัยทุกอย่างให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ
เมื่อความสัมพันธ์ไม่ลงตัว ไม่มีความสุข เราจะรู้สึกเหมือนสูญเสียการควบคุมชีวิตตัวเองและอาจนำชีวิตสู่การติดกับดัก การมองหาความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ดีกว่าและมีความสุขกว่าจึงเริ่มขึ้น ดังนั้นกลไกการจบความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายจึงเหมือนเป็นเครื่องมือที่ทำให้ตัวเองเกิดมีพลังในการเปลี่ยนแปลงด้วยปัจจัยดังนี้
บางครั้งการตัดสินใจก้าวออกจากชีวิตคู่อาจทำให้อีกฝ่ายได้เริ่มคิดทบทวนว่า ถ้าหากไม่รีบเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือทำอะไรบางอย่างอาจจะต้องสูญเสียคนสำคัญในชีวิตไป
เมื่อเรารักตัวเองและเลือกที่จะทำให้ตนเองมีความสุขเป็นการทำให้อีกฝ่ายรู้ว่าเรามีคุณค่าและเลือกที่จะจากไปเพื่อมีชีวิตต่อที่ดีกว่าและจะไม่ทนอยู่กับการถูกละเลยและไม่ใส่ใจเป็นการให้เกียรติและเคารพตัวเอง
การบอกเลิกกับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเป็นการที่เราเลือกที่จะรักตัวเองซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อเราออกจากความสัมพันธ์ที่เลวร้ายนั้นได้เราจะสามารถนำความสุขมาสู่ตัวเองได้
อย่างไรก็ตามอาจไม่ใช่เรื่องง่ายในการจบความสัมพันธ์โดยไม่เตรียมความพร้อม ปัญหาชีวิตคู่ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้และควรได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัมพันธภาพชีวิตคู่เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญจะช่วยเรื่องกระบวนการจบความสัมพันธ์ที่ดีกว่าทำด้วยตัวเอง ผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยให้เราผ่านกระบวนการจัดการด้านอารมณ์ ความคาดหวังหลังจากการเลิกรา สอนเทคนิคในการจัดการกับปัญหาของตัวเองที่อาจตามมาให้แนวทางในการทำความเข้าใจกับกระบวนการด้านอารมณ์ตัวเองที่มักเกิดขื้น ช่วยให้เราเห็นภาพและเข้าใจตัวเองได้ชัดเจนมากขี้น
อ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/rediscovering-love/201807/10-reasons-why-people-walk-away-from-relationships
https://www.marriage.com/advice/relationship/why-walking-away