170 จำนวนผู้เข้าชม |
ความโลภและไม่รู้จักพอมาจากสาเหตุใด?
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
EMDR Psychotherapy Supervisor and Brainspotting Psychotherapy Practictioner
ความโลภและความริษยามักมาคู่กันเสมอ ความซับซ้อนด้านอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์นั้นอยากที่จะเข้าใจ ความต้องการความปรารถนา การไขว่ขว้าเพื่อจะได้มาซึ่งความมั่งคั่ง ร่ำรวยด้วยทรัพย์สิน เงินทอง สถานภาพทางสังคมและการยอมรับจากผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทำให้คนดิ้นรนและเกิดความโลภความอยากได้ที่ไม่รู้จักพอ
ความโลภและความริษยา มักเกิดจากการเปรียบเทียบทางสังคม การนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่มีมากกว่าย่อมส่งผลต่อภาวะทางจิตใจที่อยากได้อยากมี เกิดความอิจฉาริษยาในสิ่งที่ผู้อื่นมีและส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดในใจว่าทำไมเราไม่มีหรือเป็นเช่นนั้นบ้าง สิ่งนี้ไม่ยุติธรรมและทำให้ตัวเองไม่รู้จักเพียงพอหรือมีความสุขในสิ่งที่ตนมีและเป็นอยู่
จัดการอย่างไรเมื่อตัวเองมีความโลภและริษยา?
ในทางจิตวิทยามองว่าความโลภมักมีสาเหตุ และมักเกิดจากปมบาดแผลทางใจ (Trauma) คนเรามักอยากได้ในสิ่งที่ตนขาดแคลนและไม่เคยมีในชีวิต คนโลภมักใช้สิ่งของ เงินทองมาเติมเต็มความว่างเปล่าในจิตใจ แต่ยิ่งมีมากยิ่งต้องการมากขึ้นและรู้สึกว่าไม่เคยเพียงพอ ความรู้สึกภายในใจยังคงว่างเปล่าและไม่มีความสุขถึงแม้จะมีทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของมากมายแล้วก็ตาม
คนโลภเป็นคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือไม่?
ทางจิตวิทยาคนที่มีความโลภจัดว่าเป็นคนที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ (Maladaptive behavior) ซึ่งเกิดจากปมทางใจในอดีตและไม่ได้รับการบำบัดแก้ไขให้หายดี จนพัฒนากลายไปในรูปแบบต่างๆ ของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่พึงประสงค์ อาการต่างๆ ที่เกิดจาก Maladaptive behavior เช่น ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้สึกไม่มั่นคงทางใจ ไขว่ขว้าต้องการครอบครองทุกอย่างมากมายอย่างไม่หยุดหย่อน มีแนวโน้มทัศนคติและอารมณ์ด้านลบ
พฤติกรรมของคนโลภเป็นอย่างไร?
1. ขาดความรู้สึกสงสารหรือเห็นใจผู้อื่น
คนโลภจะมีปัญหาด้านขาดทักษะในการเข้าใจความเดือนร้อนของผู้อื่น ไม่เห็นใจคนอื่นยึดเอาความการของตัวเองเป็นหลัก
2 รู้สึกไม่มั่นคงและไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าคนโลภส่วนใหญ่มักใช้ความโลภเป็นเครื่องมือในการจัดการกับภาวะความไม่มั่นคงทางจิตใจของตัวเอง คิดไปเองว่าการมีทรัพย์สินหรือสมบัติเยอะๆ จะสามารถช่วยให้ตนมีความมั่นคงทางจิตใจเพิ่มมากขึ้น
3. กลัวการไม่มี
การกลัวความขาดแคลน ไม่เพียงพอทำให้ต้องสะสมรวมรวมทุกอย่างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้อย่างไม่หยุดหย่อน ถึงแม้ว่าจะมีมากมายล้นฟ้าแล้วก็ตาม
4. ติดกับค่านิยมทางวัถตุ
คนโลภมีความเชื่อว่าความสุขที่แท้จริงมากจากการมีของแพง ของที่มีมูลค่าสูง และต้องการมันมากขึ้นๆ
5. นิสัยชิงดีชิงเด่นและขี้อิจฉา
การแข่งรวยเป็นสถานการณ์ที่มีแต่เสีย และนำพาให้เกิดการอิจฉาริษยาไม่เป็นผลดีต่อใครเลย
6. เกี่ยวกับระบบทางประสาท
ความโลภมักเชื่อมโยงกับระบบประสาทและสมองด้านการได้รับรางวัลดังนั้นจะเห็นได้ว่ารางวัลเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองเชิงบวกด้านอารมณ์ต่อพฤติกรรมความโลภ
เนื่องจากความโลภและความอิจฉาริษยาส่งผลต่อการมองข้ามจิตใจตัวเอง ในการปรับปรุงและพัฒนานิสัยตัวเองในการขจัดความอยาก ให้ความสำคัญแต่ด้านวัตถุทำให้มองไม่เห็นความสุขที่แท้จริงในใจ ส่งผลให้ตัวเองมืดบอด และยิ่งมีข้าวของมากเท่าไรก็ยังไม่สามารถเติมเต็มความสุขได้ซะที ดังนั้นเราควรตระหนักรู้ในตัวเองและมีวิธีจัดการกับความโลภและความอิจฉาริษยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียในภายหลัง
6 วิธีเอาชนะความโลภและอิจฉาริษยาในตัวเอง
1. เข้าใจรากเหง้าต้นตอของปัญหาที่ตนมี
สำรวจตัวเองและทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองว่าสิ่งใดที่เป็นตัวกระตุ้นให้เรามีความอยากได้อยากมี ปมในใจอันใดที่สะท้อนความเป็นตัวตนและค่านิยมของตัวเองพยายามขัดเกลาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านลบในภายหลัง
2. ให้ความสำคัญกับวัตถุข้าวของเท่าที่จำเป็น
ความอยากได้อยากมีตามคนอื่นโดยไม่ตระหนักรู้ความจำเป็นที่แท้จริงของตนเองมักนำพาปัญหามาเสมอ การเปรียบเทียบความมั่งมีกับคนอื่นยิ่งนำพาชีวิตไปสู่ความไม่พอใจในตนเองและไม่เพียงพอในความต้องการของตัวเองดังนั้นจงโฟกัสในสิ่งที่สำคัญในชีวิตและความจำเป็นในการดำรงอยู่โดยไม่ทำตัวให้เดือดร้อนผู้อื่น
3. มุ่งมั่นพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้า
อย่ามั่วแต่นั่งอิจฉาคนอื่นที่มีมากกว่าแต่ให้มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาความก้าวหน้าและความสำเร็จในชีวิตของตนเอง เปลี่ยนความคิดด้านลบและพลักดันความเจริญก้าวหน้าให้ตัวเอง
4. ฝึกจิตใจให้ชื่นชมกับชีวิตในทุกสิ่ง
จงชื่นชมและขอบคุณชีวิตในทุกวัน ทั้งเรื่องเล็กน้อยและเรื่องใหญ่ ฝึกพัฒนาทักษะความเข้าใจเห็นอกเห็นใจในความเดือดร้อนของผู้อื่น เพื่อพัฒนาเราไม่ให้มีความเห็นแก่ตัว หรือเอาความต้องการของตัวเองเป็นศูนย์กลาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละเพื่อให้เกิดความสุขที่แท้จริงในจิตใจ
5. เติมเต็มภาวะทางจิตใจด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น
เข้าร่วมจิตอาสา ทำงานเพื่อสังคมจะช่วยให้เราได้ปรับเปลี่ยนมุมมอง และเป็นการเปลี่ยนจุดโฟกัสให้ออกห่างความโลภหรืออิจฉาริษยา ใช้เวลาร่วมกับคนที่มีความเพียงพอในชีวิต ไม่โลภไม่ละโมบจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเชิงบวกด้านพฤติกรรมของตนเอง
6. มองหาความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
หากลองทำทุกวิธีทางแล้วยังไม่สามารถจัดการกับความโลภหรืออิจฉาคนอื่นที่มีมากกว่าได้อาจต้องพึ่งคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อเป็นไกด์นำทางและให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาทักษะในการจัดการกับความต้องการที่เกินพอดี การควบคุมความอยาก อาจไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้เองโดยอัตโนมัติ และการมีพฤติกกรมและนิสัยที่ดีไม่สร้างปัญหาให้ตัวเองและผู้อื่นก็อาจไม่ได้มีมาแต่กำเนิด แต่หากเราอยากใช้ชีวิตที่เหลืออยู่บนโลกนี้อย่างมีความสุขก็ควรฝึกฝนและพัฒนาปรับปรุงนิสัยและขัดเกลาจิตใจ เพื่อให้มีพฤติกรรมที่ดีอยู่เสมอ
อ้างอิง
https://cowrywise.com/blog/psychology-of-greed/
https://www.psychologs.com/10-subtle-traits-of-greedy-people-that-you-should-know-according-to-psychology/?srsltid=AfmBOooZCjp4W5qSrUu5piXHJQtxqyeo8RwCAdkHYQ5WDgRmAeXm41-7#google_vignette